วันพุธ, พฤศจิกายน 14, 2561

ไทยวางแผนจัดงาน มาราธอนระดับโลก 3 ปีซ้อนดึงนักท่องเที่ยว เข้าประเทศ

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จับมือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การกีฬาแห่งประเทศไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ไทยแลนด์ไตรลีก เปิดตัวการแข่งขันวิ่งมาราธอน "วิ่งผ่าเมือง" ระดับเอเชีย ครั้งที่ 2 รายการ อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน แบ็งค็อก 2019 บาย โตโยต้า" หวังบูมกระแสท่องเที่ยวกีฬาช่วงต้นปี คาดมีนักวิ่งทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติร่วมแข่งขัน 25,000 คน สร้างรายได้มากกว่า 500 ล้านบาท ด้านรัฐมนตรีท่องเที่ยวและกีฬา ฝันเป็นมาราธอนแห่งเอเชีย
ด้านนายอิทธิพล คุณปลื้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะประธานที่ปรึกษาและผู้ออกคำสั่งกระทรวงฯ ในการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการแข่งขันในครั้งนี้ กล่าวว่า กระทรวงมีนโยบายที่ชัดเจนที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา (Sports Tourism) โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาที่มีโอกาสดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาร่วมเป็นจำนวนมากอย่างกีฬาวิ่งมาราธอนหรือไตรกีฬา ให้เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์หลักในระยะยาว โดยมีแผนการสร้างแบรนด์ระดับโลกด้วยตัวเอง ในฐานะของตัวแทนรัฐบาล จึงได้ออกเป็นคำสั่งของกระทรวงฯ โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับเป็นเจ้าภาพในแต่ละส่วน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและสามารถจัดการแข่งขันมาราธอนในระดับโลกได้ในที่สุด
 
กระทรวงฯ ตั้งเป้าให้การแข่งขันอะเมซิ่ง ไทยแลนด์มาราธอน จะต้องจัดอย่างน้อย 3 ปี และรายการนี้จะต้องติดอันดับต้นๆ ของมาราธอนที่คนทั่วโลกอยากเดินทางมาร่วมแข่งขันมากที่สุด "เราต้องการเป็นน้องใหม่ที่มาแรงที่สุดในวงการวิ่งมาราธอน ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน" นายอิทธิพลกล่าวทิ้งท้าย
 
นางสุจิตรา จงชาณสิทโธ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่อวเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท.ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา ให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดแข่งขันครั้งนี้ โดยจะดำเนินการร่วมกับไทยแลนด์ไตรลีก โดยกำหนดจัดการแข่งขันในวันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2562 และจะจัดต่อเนื่องทุกปีในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ วัตถุประสงค์หลักของการแข่งขันเพื่อต้องการยกระดับให้ไทยเป็นจุดหมายปลายด้านการท่องเที่ยวและการกีฬา หรือ Sport Tourism destination อย่างยั่งยืน
 
"ตนทราบว่าเป็นอย่างดีว่า การจัดมาราธอนระดับโลกในเมืองหลวงนั้นเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าไม่มีใครริเริ่มโครงการ ประเทศไทยคงไม่มีโอกาสได้เห็นการแข่งขันมาราธอนในระดับโลกอย่างแน่นอน สำหรับตนหากจะจัดมาราธอนระดับโลกต้องจัดที่เมืองหลวงเท่านั้น เหตุผลคือมีความพร้อมในทุกๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องที่พัก การเดินทาง และความปลอดภัย เนื่องจากจะต้องรองรับนักกีฬาและผู้ติดตามหลานหมื่นคน ซึ่งตนคิดว่าหากจัดได้จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งทางด้านชื่อเสียง ด้านการสร้างรายได้สู่ระบบเศรษฐกิจ ด้านการพัฒนาสังคม ฯลฯ"
 
นางสุจิตรา กล่าวต่อว่า "ททท.จะใช้กระแสของกีฬาวิ่งที่กำลังบูมในขีดสูงสุด เป็นเครื่องมือหลักในการดึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาร่วมแข่งขันในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันประมาน 25,000 คน โดยเป็นชาวต่างชาติไม่น้อยกว่า 5,000 คน  ก่อให้เกิดรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมในระบบเศรษฐกิจของประเทศไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท นอกจากนี้ตนยังตั้งเป้าไว้ว่า ภายใน 3 ปี อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ มาราธอน จะเป็นรายการที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมมาร่วมมากที่สุดรายการหนึ่งของเอเชีย"
 
นายกอบเกียรติ แสงวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยแลนดืไตรลีก ในฐานะผู้จัดงานกล่าวถึงรายละเอียดของการแข่งขันว่า "การแข่งขันแบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ประเภทมาราธอน ระยะ 42.195 กม. ประเภทฮาล์ฟมาราธอน ระยะ 21.10 กม. ประเภทมินิมาราธอนระยะ 10 กม. และประเภทแฟมิลี่รัน ระยะ 3.5 กม. ส่วนเส้นทางการวิ่งนั้น ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของการจัดมาราธอนในครั้งนี้ โดยจะวิ่งในประเภทมาราธอน จะมีจุดปล่อยตัวที่ ราชมังคลากีฬาสถาน การกีฬาแห่งประเทศไทย หัวหมาก วิ่งผ่านถนนรามคำแหง (ใช้สะพานต่างระดับ) ถนนราชวิถี (อุโมงค์ลอดใต้สะพาน/ใช้สะพานต่างระดับ) ถนนดินแดง (ใช้สะพานต่างระดับ) พระรามเก้า ถนนราชดำเนินนอก ถนนวิสุทธิกษัตริย์ สะพานพระรามแปด ถนนบรมราชชนนี (สะพานต่างระดับ) วกกลับมาที่ถนน (ต่างระดับราชดำเนินนอก) เลี้ยงขวาเข้าถนนพระสุเมรุ ออกถนนราชดำเนินกลาง เข้าเส้นชัย ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประเภทฮาล์ฟมาราธอน เริ่มจากถนนราชดำเนินกลาง ผ่านถนนราชดำเนินนอก ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนราชวิถี ผ่านพระบรมรูปทรงม้า ขึ้นสะพานพระรามแปด ถนนบรมราชชนนี (สะพานต่างระดับ) วกกลับมาที่ถนนราชดำเนินนอก เลี้ยวขวาเข้าถนนพระสุเมรุ ออกถนนราชดำเนิน วกกลับเข้าเส้นชัย ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ประเภท 10 กม. เริ่มจากถนนราชดำเนินกลาง ผ่านถนนราชดำเนินนอก ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนราชวิถี ผ่านพระบรมรูปทรงม้า อ้อมใต้สะพานพระรามแปด วกกลับมาถนนราชดำเนินนอก เลี้ยวขวาเข้าถนนพระสุเมรุ ออกถนนราชดำเนินกลาง เข้าเส้นชัย ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย คาดว่าจะมีนักวิ่งมาร่วมงานตามเป้าหมายที่วางไว้คือ 25,000 คน
 
ด้านนายรุ่งโรจน์ ขันชะลี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในฐานะผู้สนับสนุนหลัก กล่าวว่า โตโยต้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมของการเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการจัดการแข่งขันมาราธอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศในฐานะ Presenting Sponsor และมั่นใจว่าการร่วมมือของทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนจะสามารถทำให้งานแข่งขันวิ่งมาราธอนในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยได้อย่างแน่นอน
 
นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้สนับสนุนระยะ 10 กม. กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพยินดีให้การสนับสนุนรายการมาราธอนรายการนี้เป็นอย่างยิ่ง ตนหวังว่า จะได้เห็นสนามแข่งขันของเมืองไทย เป็นเสมือนสนามแข่งขันในต่างประเทศในอีกไม่นานนี้ นอกจากนี้แล้ว เรื่องการมอบส่วนลดให้ผู้แข่งขัน ฉะนั้นใครที่มีบัตรเครดิต และบัตรเดบิตขอธนาคารกรุงเทพ จะได้ส่วนลด15% ในทันที่ทั้งนี้ผู้ที่สนใจจะต้องดำเนินการสมัครผ่านทาง www.amazingthailandmarathon2019.com เท่านั้น
 
นางพิตราภรณ์ บุณยรัตพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้สนับสนุนระยะ 3.5 กม. ภายใต้ชื่อ เมืองไทย สไมล์รัน ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นหนึ่งผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมดีๆ ช่วยส่งเสริมด้านสุขภาพชีวิตมนุษย์ เราจะช่วยดูแลนักวิ่งโดยมีประกันอุบัติเหตุให้กับนักกีฬาทุกคนที่เข้าร่วมแข่งขันในงานครั้งนี้อีกด้วย