วันจันทร์, พฤศจิกายน 26, 2555

แยกพื้นที่ส่วนตัวออกจากพื้นที่การขาย


เขียนโดย เซียวอี้ซาน
เรียบเรียงคำพูด-ถ่ายทอด โดย  มารพิณ


ร้านไม่ใช่บ้าน

เคยเข้าไปในร้านห้องแถวที่ไหนซักแห่งมั้ยครับ ตรงปากทางหน้าร้านก็มีของขายอยู่ดีๆ พอเผลอเดินเข้าไปหน่อย ก็เริ่มเห็นสมุดการบ้านลูกเจ้าของร้านวางเกลื่อนบนหลังตู้ ส่วนในตู้โชว์แทนที่จะมีสินค้าวางขาย กลับมีของเล่นลูกวางกองอยู่ ตรงนั้นการบ้านลูกคนโต ส่วนตรงนี้ของเล่นเสริมพัฒนาการลูกคนเล็ก มองไปมาเห็นมีข้าวของส่วนตัว ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการขายเกะกะรกอยู่เต็มไปหมด

อ้อ... ที่เท้า ลองก้มดูดีๆ มีหมาพุดเดิ้ลขนมอม(ที่หน้าตาเคยน่ารัก)ท่าทางดุๆ หมอบอยู่สองตัว “ไม่กัดหรอกค่า เป๊กกี้...ไม่เอาลูก” ถึงเจ้าของพยายามจะย้ำ “ไม่เอานะ เป๊กกี้....” แต่อาการแยกเขี้ยว ฮึ่มแฮ่ก็ไม่เคยลดลง แบบนี้แล้วใครจะอยากเข้าร้าน

เอ่อ....ร้านมีให้ลูกค้าเข้ามาซื้อของไม่ใช่เหรอครับ ไม่ใช่เลี้ยงหมาหรือเลี้ยงเด็ก

ไม่น่าเชื่อนะครับ คนชอบเปลี่ยนร้านตัวเองให้เป็นบ้าน ผมเคยมองสำรวจบางร้าน พื้นที่ส่วนตัวของเจ้าของเข้ามากินพื้นที่การขายไปเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ บางรายถึงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ นี่ล่ะปัญหาหลักของร้านห้องแถว แยกไม่ออกเลยว่า “ร้าน” คืออะไร “เจ้าของ” คืออะไร เส้นแบ่งระหว่างกิจการกับบ้านอยู่ตรงไหน

(((ภาพประกอบ 6)))

ทางแก้มีอยู่วิธีเดียว ต้องรื้อขยะออกให้หมด อะไรที่เป็นส่วนตัวก็ให้อยู่ที่ส่วนตัว อย่าให้มาวางอยู่ที่ร้าน นอกจากไม่ช่วยงานขายแล้ว ลูกน้องจะไม่นับถือ คนซื้อรู้สึกเกะกะ มีแต่ปัญหาตามมาไม่รู้จบ เตือนใจเสมอว่า “พื้นที่ขาย” กับ “พื้นที่คนขาย” ไม่เหมือนกัน

บางร้านเด็ดกว่านั้น เอาหนังสือการ์ตูนเก่าๆ ของลูกหลานมากองขายหน้าร้าน ในราคา 5 บาท 10บาท ซึ่งขายหมดกองก็น่าจะได้ซักสองร้อยหรือกว่านั้นนิดหน่อย แต่ลืมไปว่า ที่วางกินเนื้อที่ทำเลคนเดินผ่านหน้าร้านไป 20 เปอร์เซ็นต์ สูญเสียโอกาสขายของอย่างอื่นไปเท่าไหร่


ลองคิดดูสิครับ พวกแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ เขาเริ่มที่สองห้องเป็นอย่างต่ำ เว้นแต่ทำเลทองจริงๆ เช่นตามสถานีขนส่ง ค่อยย่อขนาดลงมา ส่วนร้านทั่วไปเริ่มที่ห้องแถวเดียว แต่งานนี้ ทำตัวให้เหมือนมีแค่ครึ่งร้าน แล้วแบบนี้จะไปสู้เขาได้ยังไง  

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ cx]

 ใครที่คิดว่าเรื่องราว ข้อมูลการเดินทางที่เขียนที่นี่โอเค น่าสนใจ ฝาก share บอกต่อเพื่อนๆด้วยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามนะครับ เพราะเดินทางบ่อย คงมาตอบได้ไม่ทันใจ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ