วันเสาร์, พฤศจิกายน 03, 2555

ค่าใช้จ่ายเวลาเที่ยว backpack มีอะไรบ้าง


โดย มารพิณ
ไป เฟซบุ๊ค   www.facebook.com/marnpinbook
ไป หน้ารวมข้อมูลเที่ยวเอง-backpack-แบกเป้


ค่าใช้จ่ายเวลาเที่ยว backpack มีอะไรบ้าง

ผมจะลองลิสต์ค่าใช้จ่ายต่างๆ ออกมาดูไว้เป็นแนวทางนะครับ เดี๋ยวเราจะเอาค่าใช้จ่ายพวกนี้ไปคำนวณจากงบเที่ยว ที่เรามีอยู่ในมืออีกที

+ค่ากิน
แล้วแต่สไตล์การหม่ำของแต่ละคน ถ้าดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ก็บวกเข้าไปตรงนี้ด้วย แต่โดยมากชีวิตของแบ็คแพ็คเกอร์จะหาอะไรกินง่ายๆ เน้นถูก เพราะอย่างน้อยค่าใช้จ่ายตรงนี้เราควบคุมเองได้ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอย่างเรื่องการเดินทาง มันอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา

+ค่าที่พัก
ถ้ามีคนหารค่าใช้จ่ายตรงนี้จะลดลงครึ่งหนึ่งทันตาเห็น ถ้ามีเพื่อนหรือญาติอยู่ในประเทศนั้นแล้วเราไปพักกับเขาได้ค่าใช้จ่ายตรงนี้จะไม่มีเลย เรื่องที่พักสำคัญมากเพราะงบก้อนนึงที่มากพอสมควรจะหมดไปกับพวกค่าที่พักนี่ล่ะ

ยิ่งประเทศเจริญมากเท่าไหร่ ค่าที่พักยิ่งแพงขึ้นเท่านั้น เช่น ยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์ ยิ่งเป็นฤดูท่องเที่ยวหรือ high season ค่าที่พักยิ่งแพงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นถ้าเราไปประเทศพวกนี้ในหน้าไฮ ค่าใช้จ่ายจะเบิ้ลเอาสองเด้ง เจอแบบนี้ไม่สนุกแน่สำหรับคนงบน้อย

เวลาคำนวณถ้าเราไปเที่ยวประเทศนั้น 10 วัน ไม่ได้หมายความว่าเราต้องจ่ายค่าที่พัก 10 วัน อย่าลืมว่ามีบางวันเราอาจเดินทางด้วยรถบัส หรือรถไฟข้ามคืน ซึ่งหมายความว่าเราไม่ต้องควักกระเป๋าจ่ายค่าที่พักในคืนเดินทาง พวกที่ไปเที่ยวยุโรปอาจใช้วิธีเดินทางกลางคืนด้วยรถไฟจะได้ลดค่าใช้จ่ายเรื่องที่พักลงมาบ้าง

+ค่าเดินทาง
ค่าใช้จ่ายตรงนี้ไม่นับรวมตั๋วเครื่องบินไปกลับเมืองไทยที่เราหักไปก่อนหน้านี้แล้ว ค่าเดินทางที่ว่านี้ คือค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากเมืองนึงไปอีกเมืองนึง ค่ารถเวลาเดินทางเที่ยวในเมือง ค่าแท็กซี่หรือค่าอื่นๆ เวลาเข้าเมืองจากสนามบิน สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่ง

ถึงค่าใช้จ่ายตรงนี้จะสูงเอาการ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเดินทางไกลจากเมืองนึงไปยังอีกเมืองหนึ่ง(ลองนึกภาพเหมือนเดินทางจากกรุงเทพฯไปเชียงใหม่อะไรแบบนั้น) แต่ในทางกลับกันเราไม่ได้จ่ายค่าเดินทางอะไรแบบนี้ทุกวันนี่นา ถ้าเราไปเที่ยวประเทศนั้นรวมทั้งหมด 10 วัน ก็คงไม่ได้เดินทางย้ายเมืองทุกวันแน่ๆ อาจจะมีย้ายเมืองแค่ 2-3 ครั้งเท่านั้น

+ค่าเที่ยว
ตรงนี้มีตั้งแต่ค่าเดย์ทัวร์ หรือบริการทัวร์ในพื้นที่ที่เราซื้อบริการ ค่าเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวหรือพิพิธภัณฑ์ ค่าตั๋วชมการแสดง ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ค่าเช่าจักรยานขี่เที่ยว ค่าจ้างไกด์นำทาง

ให้ระวังเรื่องค่าเข้าชม เพราะในหลายประเทศมีที่เที่ยวมากจริง แต่ค่าเข้าชมแต่ละแห่งก็ไม่ได้ถูกเลย เช่นอย่างใน ยุโรป หรือจีน ในอินเดีย ถ้าอยากเข้าทัชมาฮาลต้องเสียตังค์ ค่าเข้า 750 รูปี (ราว 750บาท) ในจีนค่าเข้าบางอย่างเจอเข้าไป 50 หยวน หรือแม้แต่ 100 หยวน ก็คูณ 5 เข้าไปครับจะได้เงินบาทออกมา หรือนครวัดที่เลื่องลือ ก็มีค่าเข้าชม 23 ดอลลาร์สำหรับบัตรผ่านวันเดียว 43 ดอลลาร์สำหรับบัตรผ่านสามวัน เป็นต้น

+ค่าใช้จ่ายปลีกย่อย
รวมค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดทุกอย่างเอาไว้ตรงนี้ เช่น รองเท้าขาดต้องซื้อใหม่ ซื้อปากกา ค่าซักผ้า ค่าฝากกระเป๋า ค่าเข้าห้องน้ำ

+ค่าสื่อสาร
ค่าชั่วโมงเน็ตคาเฟ่ ค่าซิมการ์ดและบัตรเติมเงินของประเทศที่เราไป ค่าโทรทางไกลกลับบ้าน ค่าโปสการ์ด แสตมป์

+ค่าโง่
ไปประเทศอื่นที่เราไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร ถึงจะเตรียมการมาดีแค่ไหนในบางจังหวะบางโอกาสเราก็ต้องมีพลาดจ่ายแพงกว่าแบบเสียค่าโง่ หรือไม่มีใครหลอกเราแต่เราดันโง่เอง ทางตรงๆ ไม่ไป กลับไปทางอ้อมเสียค่าเดินทางสองต่อแบบนี้ก็มี

อย่าไปกลัวเรื่องเสียค่าโง่ครับ ไม่ว่าจะมีประสบการณ์มาช่ำชองแค่ไหน บางครั้งเรื่องแบบนี้ก็หนีไม่พ้น อย่าไปกังวลเลยครับ ตราบใดที่ค่าโง่ของเราทั้งทริปไม่เกิน 10 % ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด นี่ก็ถือว่าโอเคแล้วล่ะ

+ค่าช็อบปิ้ง
เรื่องชอบปิ้ง นั่นแล้วแต่คน คงจะเอามาคำนวณตรงนี้ไม่ได้ อยากช็อปแค่ไหนก็กำหนดตั้งงบกันเอาเองครับผม งบช็อบปิ้งเนี่ยถ้าแยกออกจากงบเดินทางเลยยิ่งดี แต่ไปแบบแบ็คแพ็คอย่าเพิ่งรีบช้อปกันตั้งแต่ต้นทาง ค่อยไปช้อบวันจะกลับแถวๆ ปลายทางจะแบกของน้อยกว่านะครับ


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ cx]

 ใครที่คิดว่าเรื่องราว ข้อมูลการเดินทางที่เขียนที่นี่โอเค น่าสนใจ ฝาก share บอกต่อเพื่อนๆด้วยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามนะครับ เพราะเดินทางบ่อย คงมาตอบได้ไม่ทันใจ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ