วันอาทิตย์, กรกฎาคม 20, 2557

วิธีเก็บสาหร่ายเตา ตำบลสวนเขื่อน แพร่


โดย มารพิณ

ดูคลิปการเดินทาง  www.youtube.com/user/feelthai
ปกติคนกรุงเทพจะรู้จักสาหร่ายอยู่สองแบบ  อันแรกคือ สาหร่ายห่อข้าวญี่ปุ่น หรือพวกสาหร่ายโนริ Nori  กับอีกอันคือ สาหร่ายเถ้าแก่น้อย บรรจุซองสำเร็จรสชาติเค็มๆ มันๆ อะไรพวกนั้น

วันนี้ มารพินแวะมาไกล ถึงที่ บ้านนาคูหา ตำบลสวนเขื่อน  อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ โน่น เพราะเหตุว่าที่นี่มีของดี OTOP เมืองแพร่ ว่ามี เตา  แต่ไม่ใช่เตาที่ปรุงอาหาร  แต่เป็น  "สาหร่ายเตา"  ที่เอามาปรุงอาหารได้ หลายแบบหลายสไตล์  

ตอนแรกมารพิณ ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นสาหร่ายแบบไหน  แต่พอเห็น พอเห็นทำแล้ว เลยนึกขึ้นมาได้ว่า  ผมคิดว่าสาหร่าย "เตา"  ทางเหนือ กับ "เทา" ทางอีสาน น่าจะเป็นตัวเดียวกัน  เพียงแต่ออกเสียงเรียกขานต่างกันเท่านั้น  แต่ถ้าไม่ใช่ก็ช่วยแย้งมาด้วย จะเป็นพระคุณความรู้ครับ

สาหร่ายเตา ภาษาอังกฤษ เรียกว่า SPIROGYRA  หรืออีกอย่างว่า  pond algae  หรือแปลได้ประมาณว่า สาหร่ายบ่อ อะไรแบบนั้นครับ

บ่อเตา ที่ทางกองประชาสัมพันธ์ในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยชวนมาดูคราวนี้ เป็นบ่อสาหร่าย หรือจะเรียกว่า ฟาร์มเพาะสาหร่ายเตาก็ได้   เป็นฟาร์มของคุณลุงเจริญพร  และป้าวิไล ชัยยะกิจ

จริงๆ  สาหร่ายเขียวๆ  พวกนี้ขึ้นทั่วไปในไทย  แต่จุดเด่นสำคัญของบ้านนาคูหา ตำบลสวนเขื่อน ก็คือมีทำเลเหมาะ เพราะอยู่บนเขา มีน้ำซับ ใส ไหลเวียน  ไม่ใช่สาหร้ายเตาที่หมักหมม ในที่คูบ่อทั่วไป
แถมบ่อเตา ยังมีพื้นทรายอัดแน่น ไม่ใช่พื้นดินเลน ดินเหนียวทั่วไป

ความใสกระจ่าง ของบ่อละแวกนี้ ทำให้ตอนหลังมีเจ้าอื่นทำบ่ออื่นๆ  เพาะสาหร่ายชนิดนี้ออกมาด้วย และมีการประยุกต์ใช้ประโยชน์หลายด้านออกไปเช่น มาทำมาสก์หน้า  เอามาทำสบู่ประทินผิว เป็นต้น อย่างในรูปที่ถ่ายมาให้ชมด้านล่างนี้



ลุงเจริญพรเล่าความเป็นมา ของเรื่องราวให้ฟัง  ความริเริ่มเกิดจากการสังเกตุสาหร่ายที่ขึ้นในบ่อน้ำใสที่ทิ้งไว้ จนเกิดไอเดียหาวิธีเก็บมาขาย


บ่อเตา จะเห็นผืนทรายขาวนวลอัดแน่นอยู่พื้นล่าง  และมีปื้นสีเขียวเป็นหย่อมสาหร่ายเตา อยู่ที่ก้นบ่อ ส่วนเชือกที่ขึงตรึงสองเส้นนั้นเอาไว้ผูกกาละมังเวลาเก็บสาหร่าย


ข้าวเกรียบสาหร่ายเตา ของทานเล่น เขียวธรรมชาติ


เจลมาสก์หน้าสาหร่ายเตา และสบู่สาหร่ายเตา 


ถึงแม้เตาวันนั้นจะเหลือน้อย แต่คุณลุงเล่าให้เราฟังว่า  ถึงจะเบาบางอย่างงี้  รอแค่สามสี่วันก็จะกลับมาเขียวขจีเต็มบ่ออีกครั้ง  พร้อมกับลงลุยเก็บให้เราชมพร้อมกาละมัง
การเก็บก็จะเอาไม้เรียวยาว    ไปหมุนๆ  ในดงสาหร่ายเขียวข้น จะได้ติดไม้ขึ้นมาเป็นใยสวยๆ              


ตอนนี้ คือที่อยู่ในกาละมัง รูดน้ำออกมาจากไม้ก็จะได้เป็นหลอดๆ แบบนี้ 




สาหร่ายเทาที่ผ่านกระบวนการเก็บเป็นหลอดๆ  
เก็บสาหร่ายมาได้ ก็เอาไปล้างน้ำ บีบน้ำอออกแล้วปั่นด้วยอุปกรณ์ปั่นแบบประยุกต์


ปั่นเป็นก้อนออกมานิ่มๆ 


ปั่นออกมาแบบนี้ก็พร้อมเอาสาหร่ายไปทำกับข้าวกับปลาแล้วครับ 


ใส่เครื่องปรุงลงครก


แม่ครัวกิติมศักดิ์ครับ  มาตำสาหร่ายเตาให้พวกเราที่ไปเยือนทาน


หน้าตาแบบนี้ครับ  ใส่น้ำปู๋ด้วย ตามสูตรจาวเหนือ



ต้องทานกับข้าวเหนียวร้อนๆ  จะเข้าท่าครับ แต่ขอบอกก่อนว่า รสชาติแบบนี้ต้องมีความคุ้นชินเป็นพื้นถึงจะถูกปาก ใครไม่เคยทานมาก่อนอาจรู้สึกแปลกๆ  อยู่บ้าง เป็นธรรมดา 

จอง-ค้นหาที่พัก Agoda 

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ cx]

 ใครที่คิดว่าเรื่องราว ข้อมูลการเดินทางที่เขียนที่นี่โอเค น่าสนใจ ฝาก share บอกต่อเพื่อนๆด้วยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามนะครับ เพราะเดินทางบ่อย คงมาตอบได้ไม่ทันใจ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ