วันศุกร์, ธันวาคม 09, 2559

ปลูกต้นไม้ตามรอยพ่อ เทิดไท้รัชกาลที่ ๙ กับธนาคารธนชาต






โดย มารพิณ

ตอนแรก เมื่อสัปดาห์ก่อนที่ธนาคารธนชาตชวนไปร่วมงานปลูกป่าที่เชียงใหม่ ผมก็แอบงงอยู่เหมือนกันว่า ทำไมเป็นอำเภอสันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ใกล้กับตัวจังหวัด เชียงใหม่  แทนที่จะเป็นอำเภอไกลออกไปในเขตภูเขาสูง

อาจเป็นเพราะว่า ในเวลานั้น ในใจก็ติดภาพอยู่ว่า ปลูกป่า ก็คงไปปลูกตามภูเขาตามดอยหัวโล้น แบบที่ เขาทำกันทั่วไป หรือที่เป็นข่าวออกมา เป็นประเภทสร้างพื้นที่ป่าบนภูเขาสูงชัน  เสริมหรือสร้างป่าต้นน้ำ อะไรแบบนั้น

แต่นี่ไม่ใช่ครับ  ธนาคารธนชาต พลิกไอเดียปลูกป่ามาให้สัมผัสได้ ผูกพันกับชุมชน  โครงการนี้ชื่อว่า   “ปลูกต้นไม้ตามรอยพ่อ เทิดไท้รัชกาลที่ ๙”   ที่มีความตั้งใจที่จะปลูกต้นมะฮอกกานีริมถนนตามเส้นทางยาวกว่า  25 กิโลเมตร ในเขตพื้นที่ ตำบลแม่ก๊า  เพื่อน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช

เป็นกิจกรรม CSR ที่ต่างออกไป เพราะว่า เป็นเหมือนป่าในชุมชน เหมือนกับสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับชุมชน เป็นป่าในใจคนที่จับต้องได้

งานวันนั้นจัดกันที่ลานหน้าวัดหนองครอบ  หลังจากร่วมกัน ถวายความจงรักภักดีแล้ว  ก็ทางตัวแทนของธนาคารธนชาตและอบต.แม่ก๊า และผู้นำชุมชนก็ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในเฟซแรกของโครงการ เลียบไปตามแนวถนนริมน้ำ

 ที่เด่นและแตกต่างอย่างหนึ่งก็คือใช้ต้นมะฮอกกานี ต้นใหญ่อายุเกิน 2 ปี ที่จัดหามา ที่พร้อมจะเติบโต เลยมาปลูกในพื้นที่จริงไม่ใช่ต้นเล็ก หรือต้นกล้า ที่ต้องรอวันโตและดูแลรักษายุ่งยาก

ไอเดียอีกอย่างที่น่าสนใจก็คือ การที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมและได้ประโยชน์จริงจากพื้นที่สีเขียว ในบริเวณถนนและบ้านเรือน เขาก็จะเป็นคนที่ดูแล ต้นไม้และโครงการนี้ต่อ  เพราะถ้าโครงการใดที่คนในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมและไม่ได้ประโยชน์ ก็คงเปล่าประโยชน์

ผมว่านี่เป็นทางเลือกใหม่ของคนที่ต้องการจะทำกิจกรรมด้านความผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR  ในนามบริษัท  เพราะว่าพื้นที่สีเขียว ความจริงแล้วมีมิติหลากหลาย ไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่ที่ต้นน้ำ หรือบนภูเขาอย่างเดียว   ที่ขาดแคลนอีกอย่างในสังคมไทยก็คือพื้นที่ สีเขียวใกล้ตัวในระหว่างทางในสวนสาธารณะ  ในพื้นที่ชุมชนทั่วไป

บางที  รู้สึกเหมือนว่า เด็กรุ่นหลังที่โต  ขึ้นมากับ สังคมป่าคอนกรีตก็เปลี่ยนกลายเป็นเคยชินกับสภาพไร้ต้นไม้ตามถนนหนทาง ความว่างเปล่าสีคอนกรีตเทาที่ไร้สีเขียวแซม

บริษัทหรือหน่วยงานที่มีขนาดไม่ใหญ่งบจำกัดก็สามารถทำกิจกรรมในลักษณะนี้ได้   ติดตามผล ดูแลรักษาได้สะดวกใกล้พื้นที่ดูแล ซึ่งต่างจากการปลูกป่าต้นน้ำ ต้องใช้งานใช้งบขององค์กรขนาดใหญ่มีการดูแลต่อเนื่องยาวนานทำติดพื้นที่ห่างไกล บริษัทเล็กๆหรือ องค์กรขนาดกลางก็สามารถมาใช้รูปแบบป่าชุมชนข้างทางแบบนี้ได้


ตัวเลือกของต้นไม้ คือ ต้นมะฮอกกานี  พฤติกรรมมันชอบแสงแดด   ขนาดทรงพุ่มใหญ่  สูงให้ร่มเงาดีมาก ใบเขียวสดลำต้นสีเข้ม   ข้อดีอีกอย่างคือ ไม้พันธุ์นี้ไม่มีช่วงใบร่วงโกร๋นหมดต้น  ก็คือไม่มี หน้าผลัดใบ นั่นเอง มีร่วงใบทิ้งใบอะไรบ้างแต่ไม่พร้อมใจสลัดเหลือแต่กิ่งก้าน  ไม่เหมือนต้นไม้ข้างถนนบางพันธุ์ที่ถึงแม้ดอกจะสวยสีสดดี แต่มีช่วงผลัดใบคราวหน้าแล้งที่  ใบไม้จะร่วงหมด ขาดร่มเงาถนนเหงาไปหลายเดือนในช่วงที่ร้อนที่สุดของปี


อนาคตถนนมะฮอกกานี 

ผมไม่ได้คุยกับคนที่จัดกิจกรรม  แต่ว่า พอมานั่งนึกดู  ก็น่าสนใจอย่างตรงที่แถวเชียงใหม่ ลำพูน ว่ากันตามตรงก็ไม่ไกลจากจุดที่ร่วมกันปลูกต้นไม้ถวายในหลวงรัชกาลก่อนในครั้งนี้  เขาก็มีประวัติตำนานกับถนนป่าที่มีต้นไม้ใหญ่สองข้างทาง อย่างเส้นทางด้านใต้ระหว่างเชียงใหม่-ลำพูน ไปอำเภอสารภี ที่มีต้นไม้สูงใหญ่ อายุร้อยปีเศษ ขึ้นเด่นอยู่ตลอดทาง อายุเป็นร้อยกว่าปี กลายเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ของพื้นที่ไปในที่สุด

ย้อนไปปีนั้นคือปี  2454 ที่มีการคิดปลูกต้นไม้สองข้างทางถนนเชียงใหม่-ลำพูน ในเขตเชียงใหม่นั้นจะปลูกต้นยาง พอเข้าเขตลำพูนก็ปลูกต้นขี้เหล็กแทน เพื่อเป็นหลักหมายเขตจังหวัด   ถนนเส้นนั้นมีต้นไม้นับพันต้น ที่เป็นหลักหมายจนถึงทุกวันนี้

บน-ถนนสายต้นยาง

ปีนี้ 2559 ที่ตำบลแม่ก๊า ไม่แน่ว่าโครงการอย่างการปลูกต้นมะฮอกกานีครั้งนี้ จะเป็น แถวแนวต้นไม้สูงใหญ่อีกจุด ของชุมชนในเขตจังหวัดเชียงใหม่ในอนาคต  ลำพังต้นมะฮอกกานีคงไม่สูงเด่นสง่าเหมือนต้นยางทางไปสารภี แต่ก็เป็นไม้ใหญ่ที่มีอายุยืนยาว และให้ร่มเงากับชุมชนผู้คนไปอีกนานหลายรุ่น

กิจกรรมปลูกต้นไม้ก็เหมือนปลูกความทรงจำให้กับชุมชน อนาคตคือประวัติศาสตร์ที่กำลังสร้างขึ้น เหลือผลสำเร็จไว้เป็นความทรงจำของคนรุ่นถัดไป



ภาพด้านบน :  บรรยากาศเปิดงาน   น.ส.สุภาลักษณ์ ตั้งจิตต์ศีล ผู้อำนวยการกลุ่ม สื่อสารองค์กรสายงานสื่อสารและบริหารแบรนด์ ธนาคารธนชาต นายอุดม ชัยเทพ ผู้อำนวยการ สำนักงานเครือข่ายสาขา (เชียงใหม่) และผู้นำอบต. และ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำเภอใสันป่าตอง จ.เชียงใหม่  










 ติดตามคลิปเที่ยว ข้อมูลเดินทางhttp://www.youtube.com/user/feelthai
© สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ