วันเสาร์, ธันวาคม 31, 2554

latch คือกลอนแบบไหน



(บน) กลอนประตูที่มีขายอยู่ที่ร้านไดโสะ (Daiso)  ร้านที่ทุกอย่างราคาหกสิบบาท  และเป็นแหล่งเรียนภาษาอังกฤษอย่างดี เพราะแทบทุกอย่างมีคำศัพท์ภาษาอังกฤษกำกับเอาไว้หมด 

โดย มารพิณ
 www.facebook.com/marnpinbook 

ปริศนาธรรมวันนี้  คือภาษาอังกฤษคำว่า  latch คือ กลอนแบบไหนกันแน่

latch  ออกเสียงว่า แล่ต ฉ   แปลว่า กลอน  สลักประตู  สลักล็อกประตู ก็คือเป็นอุปกรณ์ล็อกประตูให้ขยับไม่ได้  คนภายนอกจะเปิดเข้ามาข้างในไม่ได้  (อันที่จริงก็ติดตั้งให้ล็อกจากข้างนอกก็ทำได้  แต่มันดูแปลกไม่ค่อยจะมีใครอุตริทำ เว้นแต่จะเอาไว้ขังคน หรือสัตว์ เอาไว้ในห้อง หรือทำห้องเก็บของ ห้องตู้ไฟ

  นอกจากนี้   latch  ยังเป็นคำกริยา หรือเวิร์บได้ด้วยคือ แปลว่า   ใส่กลอน   หรือ ลั่นกลอน  ลงกลอน ลงกลอนประตูหรือหน้าต่าง  อะไรแบบนั้นนะครับ

ทีนี้ ถ้าเป็นกลอนอีกแบบ  อย่าง กลอนพวกบทกวี เขาจะเรียกว่า poem  ครับ

นอกเรื่องซักนิดนึง สมัยก่อนนานมาแล้ว ตอนที่ผมยังเด็กๆ  มีเพลงลูกทุ่งฮิต  "สาวฉันทนา"ที่ร้องตามเนื้อเพลงที่ว่า

ปิดไฟใส่กลอนจะเข้ามุ้งนอนคิดถึงใบหน้า
นั่งเขียนจดหมายแล้วรีบทิ้งไปโรงงานทอผ้า
ถึงคนชื่อฉันทนา ที่เคยสบตากันเป็นประจำ
ลายมือไม่ดีผมขอโทษทีเพราะความรู้ต่ำ
หากคำพูดใดไม่ถูกหัวใจหรือไม่ชื่นฉ่ำ
ขอจงยกโทษถ้อยคำ ที่ผมเพลี่ยงพล้ำบอกรักคุณมา
หากผิดพลั้งไป อภัยเถิดฉันทนา
ผมคนบ้านป่า ถ้อยวาจาไม่หวานจริงใจ....

ปัญหาก็มีอยู่นิด พอปิดไฟใส่กลอน  พอมันมืดขนาดนั้นแล้วจะเขียนจดหมายมันจะมองเห็นได้ยังไงกัน  นี่ถ้าเป็นสมัยนี้ใช้ sms ก็ยังส่งเมสเสจหากันได้สบายใจ

มาดูคำอังกฤษที่เหลือจากป้ายขายสินค้ากลอนประตูด้านบนกันครับ มีบางคำที่จะหยิบยกมาพูดถึงกัน

  • inch   ออกเสียงว่า อิ้น ฉ์   แปลว่า นิ้ว ที่ไม่ใช่นิ้วมือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง หรือว่า "นิ้วกลม"  แต่เป็น หน่วยวัดเป็น "นิ้ว" 
  • APPROX   มาจากคำเต็ม   "Approximately"    หรือ  "Approximate"  อ่านว่า อะ พร๊อก สิ เม่ท   ครับ เป็นคำยากคำนึง แต่มีประโยชน์แน่ถ้าคิดจะเรียนต่อนอกระดับสูงๆ 
แล้วไว้พบกันใหม่ครับ

รวมหนังสือเรียนภาษาต่างประเทศ

รวมลิงก์หนังสือมารพิณ
 ใครที่คิดว่าเรื่องราวภาษาอังกิดที่เขียนที่นี่โอเค น่าสนใจ ฝาก share บอกต่อเพื่อนๆ ใน Facebook ด้วยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามภาษาอังกฤา หรือแก้ปัญหาการบ้านภาษาอังกฤษนะครับ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ (English for learners - blog)