วันจันทร์, มกราคม 07, 2556

เปรียบเทียบความเร็วเน็ตไทยกับเวียดนามยุค AEC



โดย มารพิณ

ไป เฟซบุ๊ค   www.facebook.com/marnpinbook
แวะเที่ยว  หน้ารวมข้อมูลเที่ยวเอง-backpack-แบกเป้
ดูคลิปการเดินทาง  www.youtube.com/user/feelthai



จุดจบเน็ตไทยยุค AEC
ถึงคราวอุตสาหกรรมไอทีต้องรีบย้ายประเทศ

ก่อนที่จะอ่านบทความนี้ต่อ อย่างแรกที่อยากให้ทำคือ เข้าไปที่เว็บไซต์ www.speedtest.net แล้วกดทดสอบความเร็ว ของอินเทอร์เน็ตที่กำลังใช้งานอยู่ในวินาที ว่าเน็ตของท่านมีความเร็วดีร้ายขนาดไหน

ลองเลยครับ....ลองเลย

ผลที่ออกมาเป็นอย่างไรกันบ้าง?

ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ ยูสเซอร์ที่ใช้งานตามบ้านอยู่ในเมืองไทยเรา จะได้ความเร็วในการดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ตที่ใช้งานอยู่ไม่ถึง 10 เมกะบิตต่อวินาที และอัพโหลดอาจไม่ถึง 1 เมกะบิตต่อวินาทีด้วยซ้ำ อันที่จริงส่วนใหญ่ที่คอนเน็คต์อยู่ตามบ้านน่าจะได้ความเร็วไม่เกิน 3-5 เมกะบิตต่อวินาที หรือน้อยกว่านี้

ผมไม่แปลกใจด้วยที่หลายคนจะได้ไม่ถึงหนึ่งเมกะบิตต่อวินาที หรือหลายคนอาจตกใจว่า เฮ้ย. ซื้อโปรมันคุยว่าให้แรงกว่านี้นี่นา ทำไมได้น้อยกว่าที่ตกลงกันไว้ ...เอาเลยครับโทรไปเล่นงานบริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตได้เลย

ส่วนใครที่ใช้อยู่ที่ออฟฟิส ใช้เน็ตที่ทำงาน อาจมีได้ความเร็วที่น่าจะแรงกว่านี้ แต่ผมว่าเอาให้แรงแค่ไหนไม่น่าจะเกิน 15 mbps หรือ สิบห้าเมกะบิตต่อวินาที ส่วนอัพโหลดก็คงได้ไม่เท่าไหร่

เป็นไงครับกับผลการทดสอบความเร็วเน็ตที่ออกมากันตรงนี้ คราวนี้ อยากให้ลองมามาดูภาพประกอบของผมที่เทสต์มาจากฮานอย ที่ใช้งานเน็ตไร้สาย Wifi ที่มีบริการสาธารณะให้ลูกค้าตามโรงแรมและร้านทั่วไป ในภาพจะเห็นว่า ดาวโหลดได้ความเร็ว 34 เมกะบิตกว่าๆ และ อัพโหลดสปีดสูงถึง 32 Mbps

ย้ำครับว่าไม่ได้เขียนผิด หรือพิมพ์ผิด เร็วขนาดสามสิบกว่าเมกะบิตจริงๆ ไม่ได้โม้

แล้วเรื่องนี้ หมายความว่าอะไรครับ? ลองนั่งคิดให้ดี

คนไทยที่คิดว่าตัวเองแน่นักหนา ในเรื่องสปีดอินเทอร์เน็ตที่ใช้งาน เมืองไทยเกือบทั้งประเทศกลับแพ้เวียดนาม ส่วนใครที่ที่คอนเน็คต์จากบริษัท ถามตัวเองนิดนึง บริษัทคุณใหญ่ขนาดไหน มีกิจการในเครือมากน้อยแค่ไหน หรือกรณีที่เป็นสื่อ เป็นหนังสือพิมพ์ หรือสื่อใหญ่โตขนาดไหน

แล้วทำไม....กลับมีสปีดอินเทอร์เน็ตที่ใช้งานแพ้ความเร็วที่เขาบริการให้แขกทั่วไปใช้ตามโรงแรม เกสต์เฮาส์ หรือร้านกาแฟ ธรรมดาๆ ในเวียดนาม

ซึ่งในเคสนี้ ลองเอาความเร็วที่ผมเก็บหน้าจอมาฝากนี้ เทียบเข้ากับสปีดที่ผมให้เทสต์ไป เรากำลังเจอความจริงที่ว่า สปีดของหลายคนที่กำลังใช้อยู่ช้ากว่าเจ้านี้ของเวียดนามหลายสิบเท่า …ย้ำครับ...ช้ากว่าหลายสิบเท่า

เห็นแบบนี้เข้าแล้วไม่ต้องพูดถึงความได้เปรียบในการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบของแต่ละประเทศที่เมืองไทยอาจได้คะแนนดีในเรื่องถนนหนทาง เส้นทางคมนาคม ท่าเรือ อะไรต่างๆ นานา

แต่มาสอบตกสนิทในเรื่องอินเทอร์เน็ต และ 3G หรือ 4G ที่ลาว เขมร เวียดนาม และทุปประเทศที่เหลือในชาติ ASEAN ด้วยกันเขามีใช้งานกันหมดแล้ว

โอเค.. ตัวอย่างที่ผมยกมาอาจสุดๆ ไปนิด เพราะไม่ทุกแห่งของประเทศเวียดนามที่เร็วได้ขนาดนั้น แต่จากประสบการณ์ขอยืนยันว่า ค่าเฉลี่ยเกือบทุกทีดีกว่าเมืองไทยมากๆ

โดยเฉพาะความเร็วในการอัพโหลดที่เป็นเรื่องสำคัญของคนทำงาน ที่เรื่องนี้เมืองไทยยังมองข้ามกัน และบริษัทอินเทอร์เน็ตไทยยังปิดหูปิดตาคนด้วยการออกบริการเน็ตที่อ้างว่าไฮสปีด ที่อัตราดาวน์โหลดอาจพอใช้ได้ แต่การอัพโหลดต่ำว่ามาก ส่วนใหญ่ให้มาไม่ถึง 1 เมกะบิตด้วยซ้ำ

ซึ่งการอัพโหลดเป้นเรื่องของคนทำงาน ส่วนดาวน์โหลดเป็นเรื่องของผู้บริโภค ในระยะยาวจะทำให้สังคมไทยเป็นเพียงผู้บริโภคคอนเทนท์จากที่อื่น ดูคอนเทนท์เน็ตจากประเทศอื่น แต่ผลิตคอนเทนท์ได้เองน้อยลง หรือถึงผลิตได้ก็อัพโหลดขึ้นเน็ตได้ช้า

ประเด็นนี้จะไปต่อที่ว่า พอมี AEC และอะไรอื่นขึ้นมาที่เปิดช่องของการทำงานข้ามพรมแดนและลดกฏเกณฑ์ในกลุ่มชาติอาเซียนมากขึ้น อุตสาหกรรมไอทีและอินเทอร์เน็ตเมืองไทยที่เจอปัญหาเรื้อรังมาจากภาครัฐไม่เคยส่งเสริม

ยิ่งไปกว่านั้นในด้านกฏหมายไอทีก็ยังยุ่งยากและปฏิบัติไม่ได้จริง จับคนร้ายไม่ได้ แต่สร้างกฏอินเทอร์เน็ตหยุมหยิมมากมายมาทำร้ายคนที่มีกิจการสุจริต และเพิ่มต้นทุนให้กับคนที่ทำงาน

ไม่ต้องพูดถึงปัญหาความเร็วการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศต่ำ กว่ามาตรฐาน ในขณะที่ โครงการ 3G ที่จนถึงทุกวันนี้ยังติดอุปสรรคจากการเล่นเกมของกลุ่มผลประโยชน์ และรัฐวิสาหกิจผูกขาดและขัดขวางการพัฒนาโทรคมนาคมในประเทศ

ทั้งหมดนี้ จะมีเหตุผลอะไรมาจูงใจให้กิจการอินเทอร์เน็ต คนที่ทำคอนเทนท์ โปรแกรมเมอร์ เดเวลล็อบเปอร์ ฯลฯ ให้คงกิจการอยู่ในเมืองไทย หรือทนทำงานอยู่ในเมืองไทยที่มีแต่ปัญหาและอุปสรรคไอที

ช่วยบอกผมหน่อยว่า ...พวกเราจะยังทนอยู่ในเมืองไทยกันต่อไปทำไมกัน


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ cx]

 ใครที่คิดว่าเรื่องราว ข้อมูลการเดินทางที่เขียนที่นี่โอเค น่าสนใจ ฝาก share บอกต่อเพื่อนๆด้วยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามนะครับ เพราะเดินทางบ่อย คงมาตอบได้ไม่ทันใจ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ