วันเสาร์, สิงหาคม 27, 2554

เดี๋ยวจัดการเรื่องนั้นให้เอง พูดเป็นภาษาอังกฤษแบบไหน

โดย มารพิณ
 www.facebook.com/marnpinbook 


ภาษาประชุม  หรือเจรจา คุยงาน ถกปัญหา  เราต้องตกปากรับคำว่าจะทำอะไร  หรือจัดการเรื่องอะไร   หรืออีกกรณีเช่น   บริการลูกค้าอยู่  ลูกค้าโวย หรือเรียกร้อง ขออะไรบางอย่างจากเรา  กรณีพวกนี้เวลาตอบ  yes  ไปเฉยๆ   มันดูจะไม่มีฟอร์ม  ต้องมีลีลาออกลวดลาย  แบบว่า "ไว้เชิง"  เอาไว้บ้าง  คำพวกนี้ผมก็ไม่ได้คิดขึ้นมาเอง เจอฝรั่งใช้ เห็นว่าเข้าที ก็ลักจำเอามาฝากผู้อ่านทุกคนแถวนี้

                                   "I will take care of that"
 ความหมายของการใช้  "I will take care of that"  แปลว่า  เดี๋ยวผมจัดการเรื่องนั้นให้     เดี๋ยวผมดูแลเรื่องนี้ให้เอง   เดี๋ยวเรื่องนั้นผมจัดการให้เอง  ความหมายคือ   เป็นการรับปากยืนยันว่าผมจะรับผิดชอบทำให้ ดูแลให้ แก้ปัญหา  หรือดีลให้มันเรียบร้อยเอง (ความหมายที่ซ่อนอยู่ก็คือ เดี๋ยวทำให้ จัดให้  วางใจได้)

ประโยคนี้มันดีอย่าง ตรงที่ คำว่า  that  เนี่ย มันแทนได้ทุกเรื่อง ครอบโลก ครอบจักรวาล อิอิ... คืออีกฝ่ายเขาว่าอะไรมา  พูดถึงเรื่องอะไรที่เป็นประเด็น  ปัญหาอะไรที่เกิดเรื่องเกิดราวขึ้นมา ใช้ได้โม๊ด!

ความต่างของเทกแคร์ฝรั่ง กับ เทกแคร์ไทย 
ดูศัพท์อังกฤษกันครับ มีการใช้ไทยกับอังกฤษที่ไม่เหมือนกันอยู่บางเรื่อง

take care แปลว่า ดูแล จัดการ   ใช้ได้ทุกเรื่องครับ กับปัญหา กับเรื่องราว ไม่จำเป็นต้องเฉพาะกับคน

ซึ่งคำนี้กลายร่างแปลงกายมาในภาษาไทยในการใช้ ที่ไม่เหมือนภาษาอังกฤษซะทีเดียว  เพราะจะเน้นมาใช้กับ "การดูแลลูกค้า หรือคน"  เสียมากกว่า เช่น    "คุณสุเทพ  ศุกร์นี้คุณว่างหรือเปล่า  ช่วยเทคแคร์ลูกค้าฝรั่งจากสเปนให้ที"    หรือ "ชั้นไม่ว่างพอ ที่จะมาเทกแคร์นังนั่นหรอกย่ะ!"   อะไรแบบนี้

หรือ  ดูสำนวนและการใช้คำในตัวอย่างพาดหัวข่าวบันเทิงพวกนี้

"เป้ย"ชมหนุ่ม"บิ๊ก"น่ารัก ช่างเทกแคร์ " 
'ไมค์'เทกแคร์ 'พิงกี้'ทุกฝีก้าว เมินฉายาคาสโนว่าหน้าหยก" 
 "พิงค์กี้"ปลื้ม"ไมค์"เทกแคร์เก่ง" 

จำความต่างเอาไว้ครับ  ฝรั่งเทกแคร์ได้กับทุกเรื่อง  เทกแคร์ปัญหาก็ได้  เทคแคร์อะไรก็ได้  ไม่จำเป็นต้องแค่เฉพาะคน แบบที่ไทยรับเอาฝรั่งมาใช้

รวมลิงก์หนังสือมารพิณ
 ใครที่คิดว่าเรื่องราวที่เขียนที่นี่โอเค น่าสนใจ ฝาก share บอกต่อเพื่อนๆ ใน Facebook ด้วยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามภาษาอังกฤา หรือแก้ปัญหาการบ้านภาษาอังกฤษนะครับ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ (English for learners - blog)