วันอังคาร, พฤศจิกายน 01, 2554

แนะนำ "รองเท้าลุยน้ำ" รับสถานการณ์ "มหาอุทกภัย"

อย่านึกว่านี่คือรองเท้าผ้าใบสีดำแบบที่นักเรียนเขาใส่กันนะครับ  นี่เป็นรองเท้าสไตล์เรียบง่ายที่ออกแบบมาให้สำหรับลุยน้ำ ลุยโคลนโดยเฉพาะเจาะจง   
โดย มารพิณ
 www.facebook.com/marnpinbook 

แนะนำนิดสำหรับคนที่ต้องลุยน้ำ หรือตอนนีี้อาจจะเจอปัญหาน้ำท่วม "มหาอุทกภัย"เข้าให้แล้ว  มีปัญหาสองสามเรื่องที่จะต้องเจอในสถานการณ์จริง โดยเฉพาะเรื่องรองเท้าเหมาะๆ  คู่ใจ สำหรับบุกฝ่าน้ำท่วมขัง เข้าซอย เข้าบ้าน และไม่รู้ว่าจะมีเสาซาก หรือของมีคมอะไรอยู่ที่พื้นบ้าง จะวางใจเดินดุ่มไปได้อย่างไร

  • ปัญหาของ รองเท้าบูต หรือบู้ท
ข้อดีคือ ใช้ได้ชั่วคราว  ใช้กับระดับน้ำไม่สูงมากนัก  แต่ถ้าต้องเดินไกล หรือมีคลื่นมีน้ำกระฉอก น้ำจะเข้าบู้ตแบบเปิดได้อย่างรวดเร็ว ส่วนบู้ตสูงและบู้ตแบบปิดไม่ค่อยมีขายในเมืองไทย  คุณภาพรองเท้าบู้ตที่มีขายในไทยก็ไม่ค่อยดี  ขอบอกแค่ว่า เหมาะแค่เดินลุยน้ำซึมในบ้านหลังแนวกระสอบทรายเท่านั้น
  • ปัญหาของรองเท้าแตะ
ข้อดีคือไม่กลัวน้ำ แต่ข้อเสียก็คือ เบาและทำท่าจะลอยตลอดเวลา  บางและเปิดรอบข้าง เราอาจไปเหยียบหรือชนอะไรคมๆ ใต้น้ำได้  ปัญหาของรองเท้าแตะคือบางทีมันหลุด แล้วลอยขึ้นได้ในบางคราว ถ้าคว้าไม่ทันก็ต้องลุยต่อด้วยแตะที่เหลือข้างเดียว
  • ปัญหาของรองเท้าผ้าใบ
ข้อดีคือ เกาะ กระชับเท้า  ป้องกันของมีคมได้  แต่ข้อเสียของเรื่องราวก็คือ    มันเปียก อุ้มน้ำจนหนักในบางรุ่นบางแบบ  และกว่าจะแห้งก็ยากอยู่   นอกจากนี้พอลุยน้ำไปซักพัก กาวที่ยึดรองเท้า พื้นรองเท้า จะเริ่มเสื่อมสภาพ รองเท้าจะเริ่มหลุดออกเป็นชิ้นๆ


แก้ปัญหาด้วย รองเท้าลุยน้ำทางการเกษตร
ทางแก้คือรองเท้าแบบที่ผมจะแนะนำนี้ครับ ถ้าในกรุงเทพฯเราจะไม่เจอรองเท้าที่ว่านี้ขายอยู่ที่ไหน  เพราะไม่ใช่ตลาดของสินค้าประเภทนี้   ผมไปเจอมาตอนที่ขึ้น "ภูกระดึง" เพราะเป็นรองเท้าที่ "ลูกหาบ"  เอาไว้ใส่แบกของขึ้นภูกระดึงครับ โดยเฉพาะในช่วงทีมีฝน

(บน) ดูหน้าตา มีเชือกผูก แล้วดูเหมือนรองเท้าผ้าใบสีดำ  แต่ไม่ได้ทำจากผ้าใบนะครับ  นี่คือ ยางล้วนๆ  มีแต่เฉพาะเชิอกเท่านั้นที่ของจริง

รองเท้าที่ผมพูดถึงนี้ทำมาจาก "ยาง"  หรือ "ยางสังเคราะห์" หรือ "พลาสติคแบบยืดหยุ่น"  ทั้งดุ้น และเขาหล่อในเบ้า หรือแบบหล่อที่ทำให้หน้าตาภายนอกคล้ายรองเท้าผ้าใบ (ที่เป็นลายเย็บ ลายเนื้อผ้าในรูป มันอยู่ทีี่แม่พิมพ์ครับ)   จัด เป็นรองเท้าแบบที่ใช้ในการไปไร่ ไปนา  ส่องกบ  ตกปลา ใช้ในงานกลางแจ้งและการเกษตรทั่วไปครับ ชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนาเขาใช้กันทั่วไป ปกติในชีวิตประจำวันครับ

ข้อดีก็คือ มันเป็นยาง ล้วนๆ   ดังนั้นเวลาเปียกแล้ว เอามาผึ่งหน่อยเดี๋ยวก็แห้งสนิท  ถ้าเอาผ้าเช็ดก็แห้งได้ทันที ไม่หมักหมม   มีเชือกผูกทำให้กระชับ (เชือกผูกเป็นอย่างเดียวที่เปียก  แต่ก็ทำให้แห้งไม่ยาก)

 และที่ใต้รองเท้ายังมี "ปุ่ม"  มากมาย เหมือน ปุ่มรองเท้าสตั๊ด แบบที่เอาไว้เตะบอล  ดังนั้นเลยเกาะพื้นได้เยี่ยม  แม้แต่ในพื้นที่ลื่น ลาดชัน ก็เคยลองมาแล้วตอนขึ้นภูกระดึงช่วงเปิดใหม่ในแต่ละปีเดือนตุลา  จนเดี่ยวนี้ผมต้องหาไว้ประจำติดไว้คู่นึงเวลาที่ขึ้นภูหน้าฝน หรือไปไหนมาไหนที่ต้องลุยโคลน ลุยหล่ม

(บน) นี่คือ ปุ่มสตั๊ด แบบรองเท้านักฟุตบอลที่ผมพูดถึงครับ  ออกแบบมาสำหรับลุยสวน ลุยนา ลุยน้ำ ฝ่าโคลนที่เละ เฉอะแฉะ โดยเฉพาะ 
(บน) หงายปุ่ม ให้ดูกันชัดๆ   ทรายที่เห็นเหลือมาจากตอนไปลุยถ่ายรูปทรายในทะเลที่กระบี่  ผมเคยลองกับสภาพพื้นที่ของชายหาดที่ต้องลุยทราย หรือลุยพวกหาดโคลน เป็นเลนก็ไม่เลวเลย  เพราะบางทีต้องเดินลุยน้ำลงไปถ่ายรูป 


ปุ่ม หรือตุ่มสตั๊ด นี่จะช่วยให้เกาะพื้นที่เราเดินลุยน้ำได้มั่นคง  ยันกันน้ำเชี่ยวได้ดีขึ้น และ พอน้ำท่วมขังไปซักระยะจะเริ่มมี "ตะไคร่น้ำ"  จับ  เรื่องลื่นจะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาครับ

และเราจะได้ไม่เหยียบอะไร หรือโดนอะไรบาด เพราะว่า แผลในน้ำเน่า มันติดเชื้อง่าย และเป็นอะไรต่อได้มากมาย กันไว้ดีกว่าแก้ หรือกลุ้มทีหลังครับ

เอาล่ะครับ คำถามคือหาซื้อที่ไหน  ราคาเท่าไหร่  แบบนี้เซ็นทรัลไม่มีขายแน่ๆ  (ต่อไปไม่แน่ เพราะธรรมชาติจะเปลี่ยนพลิกผันมาท่วมใหญ่ๆ แบบนี้เป็นเรื่องปกติ)

หาได้ตามร้านค้าอุปกรณ์การเกษตร ต่างจังหวัดทั่วไปครับ  พวกตามอำเภอ จะมีตลาดสด และโดยรอบตลาดจะมีพวกร้านห้องแถวขายอุปกรณ์การเกษตร ที่มีแห มีปุ๋ย มีเบ็ด มีจอบ เสียม พานไถ ขายอะไรแบบนั้นละครับ ราคาปกติไม่น่าเกินคู่ละร้อยบาท  แต่ไซส์ใหญ่จะค่อนข้างหายากหน่อยในร้านนึงที่เขารับมาหนึ่งกล่องใหญ่จะมีคู่ไซส์ใหญ่ไม่กี่คู่

สู้ครับ  เราต้องปรับตัวเข้ากับน้ำ  เพราะยังไงน้ำและพระแม่คงคา พระแม่ธรณีไม่ยอมปรับตัวตามเราแน่ๆ


=====================================
เราต้องเปลี่ยนวิธีคิด เรื่องขนน้ำทางไกลไปช่วยผู้ประสบภัย

รวมลิงก์รับมือปัญหาน้ำท่วม

รวมลิงก์หนังสือมารพิณ

 ใครที่คิดว่าเรื่องราวที่เขียนที่นี่โอเค น่าสนใจ ฝาก share บอกต่อเพื่อนๆ ใน Facebook ด้วยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามภาษาอังกฤา หรือแก้ปัญหาการบ้านภาษาอังกฤษนะครับ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ (English for learners - blog)