|
เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านโฮ่ง อำเภอเวียงป่าเป้า เชียงรายกำลังจะมาวาดรูปรถสื่อสารฉุกเฉินฯ |
โดย มารพิณ
www.facebook.com/marnpinbook
หมายเหตุ:
งานเขียนชิ้นนี้เขียนขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้วตอนใช้เวลาเดือนนึงตะเวนอบรมโรงเรียนในภาคเหนือในโครงการร่วมกับเน็คเท็ค และบริษัทซิสโก้ที่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เน็ตเวิร์กรายใหญ่เป็นสปอนเซอร์ ผมเอามาลงเก็บไว้เป็นความทรงจำ ในที่นี้
-----------------------------------------------------
“ไปแห๋ม.....” “ไปแห๋ม ไปแห๋ม ....” เสียงเด็กนักเรียนหญิงกรีดร้องระงมลั่นห้องเรียน ตามมาด้วยเสียงนักเรียนชาย “ตั้งซื่อ ตั้งซื่อ.....” แถมยังมีอีกหลายเสียงตะโกนแข่งมาจากฟากหลังห้อง จากนั้นก็แทบจะแยกเสียงไม่ออกว่าใครกำลังพูดอะไร หรือตะโกนอะไรออกมาบ้าง
ท่ามกลางความสับสนและเสียงเชียร์ระงม ใครที่เดินผ่านหน้าโรงเรียนคงจะบอกได้ว่า มีบางอย่างผิดปกติกำลังเกิดขึ้นที่นี่แน่นอน ไม่ใช่ชั้นเรียนปกติอย่างที่เคยเป็นในหลักสูตรกระทรวงฯ
และแน่นอนว่าต้องแตกต่าง เพราะเรากำลังสอน “วิธีกลับบ้าน” ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนผ่านการใช้เน็ตเวิร์กอินเทอร์เน็ตนั่นเอง
หลักสูตรอินเทอร์เน็ตและชั้นเรียนเคลื่อนที่คราวนี้สนับสนุนโดยบริษัทซิสโก้ ซิสเต็มส์และหน่วยงานภาครัฐของไทยคือ ศูนย์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ที่มีโครงการร่วมกันในด้านรถสื่อสารฉุกเฉินเพื่อสังคมไทย(Emergency and Educational Communication Vehicle: EECV)
ที่ปกติแล้วจะทำหน้าที่ในการสื่อสารเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติ ที่ประสบปัญหาระบบสื่อสารล่ม การรายงานความเสียหาย ตลอดจนความต้องการในการติดต่อระหว่างพื้นที่ประสบภัยกับพื้นที่ภายนอกไม่สามารถทำได้ โดยรถหกล้อคันนี้สามารถให้บริการระบบโทรศัพท์ผ่านดาวเทียมได้พร้อมกันถึง 25 คู่สาย อีกทั้งยังสามารถให้บริการอินเตอร์เน็ตด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กอีก 25 เครื่อง
โครงการนี้เริ่มขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิ โดยในยามสงบที่ไม่มีปัญหาภัยธรรมชาติ รถฉุกเฉินฯคันนี้จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการศึกษาแทน โดยเฉพาะการบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งเคยทำมาแล้วในหลายพื้นที่เช่น ภาคใต้ ในปีกลายที่ผ่านมา
|
บรรยากาศเฮฮาของนักเรียนโรงเรียนบ้านถืมตอง จังหวัดน่าน |
แต่คราวนี้ ต่างออกไปจากโปรเจ็กต์ให้ความรู้เรื่องอินเทอร์เน็ตอื่นๆ ที่เคยทำกันมา เพราะนอกจากความรู้อินเทอร์เน็ตพื้นฐานแล้ว เรายังได้สอนในเรื่องที่ธรรมดาที่สุดสำหรับนักเรียนทุกคนในสังคมไทย นั่นคือ “ไปโรงเรียน” และ “กลับบ้าน” กิจวัตรประจำเช้าเย็นของทุกคน แต่นำมาสอนใหม่อีกครั้งด้วยมุมมองใหม่ที่ไม่เหมือนใคร
อันที่จริง ชั้นเรียนอินเทอร์เน็ตของเราไม่ได้สอนเน็ตเวิร์กอะไรซับซ้อน ไม่ได้พูดถึงเรื่องเทคนิคอะไรที่ยากเย็นเกินความเข้าใจ แต่กำลังทำเรื่องง่าย ๆ และใช้เน็ตให้เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากที่สุดด้วยการให้เด็ก ๆ พาเพื่อนกลับบ้าน หรือหาทางมาโรงเรียนด้วยแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว
อย่างภาพด้านล่างคือ เมื่อตอนที่ตัวแทนนักเรียนออกมาหาทางไปโรงเรียนน่านนคร บนจอภาพคือภาพถ่ายดาวเทียมของอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
พอเอาเรื่อง “ไกลตัว” มาทำให้ “ใกล้ตัว” ผ่านเน็ตเวิร์กออนไลน์ ผลที่ตามมาก็คือความเฮฮาสุดชีวิตในชั้นเรียนเมื่อน้อง ๆ เด็กนักเรียนตัวแทนของห้องที่ไม่เคยเห็นภาพถ่ายดาวเทียม หรือภาพถ่ายทางอากาศมาก่อนในชีวิตสามารถลากเมาส์นำทางเพื่อน ๆ มาโรงเรียน หรือกลับไปจนเห็นหลังคาบ้านตัวเองได้ในที่สุด
อันที่จริง คำว่า “ไปแห๋ม” คือคำบอกทิศทางง่าย ๆ ถอดความจากภาษาเหนือก็คือ “ตรงไป” “ตรงไปเรื่อย ๆ” หรือ “ไปต่อ” ส่วน “ตั้งซื่อ” นั้นก็ไม่เกี่ยวอะไรกับความซื่อสัตย์ในภาษากลาง แต่กลับหมายถึง “ไปตรงๆ” ต่างหาก
“เย้.....” “เฮ้.......” เสียงนักเรียนทั้งห้องดังสนั่นไปทั่วอาคารเมื่ออาสาสมัครของชั้นเจอเข้ากับที่หมายไม่ว่าจะเป็น “โรงเรียน” หรือ “บ้าน” ในหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยมีเพื่อน ๆ คอยช่วยเชียร์ผ่านภาพที่ฉายขึ้นจอโปรเจ็กเตอร์หน้าห้อง แต่ถ้าเพื่อนเลี้ยวไปผิดทางก็จะมีเสียงโวยวายมาจากหลังห้องเช่นกัน
ความรู้คือเน็ตเวิร์ก
ภาพสนุก ๆ แบบนี้ผิดจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง ถ้าเป็นสมัยก่อนที่ผ่านมา ภาพถ่ายดาวเทียมในระดับตำบลหรือหมู่บ้านเคยเป็นเรื่องที่ไกลเกินเอื้อมสำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียน มีเพียงหน่วยงานราชการ หรือฝ่ายทหาร บริษัทเอกชนขนาดใหญ่เท่านั้นที่มีสิทธิใช้งาน หรือมีเงินพอจ่ายค่าภาพและอุปกรณ์ใช้งานที่มีราคาแพง
|
เด็กประถมในชุดพื้นเมือง |
แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ได้มีข้อมูลสารสนเทศทางภูมิศาสตร์มากมายรวมทั้งภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมเปิดให้บริการฟรีในอินเทอร์เน็ต อย่างเช่น
ไซต์ earth.google.com หรือ เว็บไซต์ www.pointasia.com ที่เปิดให้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ได้ฟรี และใช้ซอฟต์แวร์ที่ดาวน์โหลดมาเชื่อมต่อเพื่อดูภาพถ่ายดาวเทียมจากเว็บไซต์ของตนได้ ผลก็คือ มีพื้นที่มากกว่าครึ่งของประเทศไทยที่สามารถดูผ่านภาพถ่ายดาวเทียมในระดับชัดลึกถึงหลังคาบ้าน
|
นักเรียนกำลังง่วนหาทางไปบ้านจากแอพพลิเคชั่นแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม |
และด้วยความชัดระดับนี้เองที่ช่วยทำให้ งานอบรมอินเทอร์เน็ตใน 9 จังหวัดภาคเหนือของซิสโก้และเน็คเท็คคราวนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี ตลอดสองเดือนที่ตะเวนไปทั่วภาคเหนือ ทางทีมงานและรถสื่อสารฉุกเฉินเพื่อสังคมไทยได้อบรมอินเทอร์เน็ตพื้นฐานและทำกิจกรรม “หาทางกลับบ้าน-ไปโรงเรียน” ผ่านภาพถ่ายดาวเทียมกับนักเรียนเกือบ 3 พันคน รวมทั้งยังมีครูอาจารย์และเจ้าหน้าที่ชุมชนท้องถิ่นอีกหลายร้อยคนที่ผ่านการอบรมด้วยเช่นกัน
|
เด็กนักเรียนโรงเรียนถืมตอง ที่น่าน อบรมไปตอนเช้า พอตกบ่ายก็รับบทช่วยสอนอาจารย์ต่อ |
ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมที่ดูได้จริงผ่านเน็ตเวิร์กนอกจากจะช่วยในการเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ ในโรงเรียนอย่างเช่นภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์แล้ว ยังช่วยเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมองของชุมชนระดับท้องถิ่นอีกด้วย
เหมือนการได้มีเครื่องมือใหม่ โปรแกรมแอพพลิเคชั่นใหม่ที่นำไปใช้ต่อยอดทำประโยชน์ในระดับรากหญ้าได้จริงจัง เช่น ใช้แผนที่ดาวเทียมวางแผนป้องกันน้ำท่วม หารือเรื่องงานตัดถนน กำหนดเขตเทศบาล หรือเ ขตอบต. ดูภาพจำลองสามมิติของพื้นที่ตั้งตำบลและอำเภอ รวมทั้งงานชุมชนอื่น ๆ อีกมากมาย
ที่สำคัญ เทคโนโลยีและแอพพลิเคชั่นที่ใช้สาธิตและอบรมไปไม่มีความซับซ้อนเกินความรู้ความชำนาญด้านเทคนิค และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่โรงเรียนทั่วไปมีอยู่ โปรแกรมดูภาพอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสามารถติดตั้งได้ง่าย ดาวน์โหลดใช้งานฟรี รันได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ และโหลดข้อมูลภาพได้ทุกความเร็วของการเชื่อมต่อแม้แต่การใช้งานแบบต่อตรง dial up ผ่านสายโทรศัพท์ซึ่งถึงแม้จะช้ามาก แต่ก็ยังใช้งานได้เช่นกัน
ยังไปต่อบนเส้นทาง....
เส้นทางอินเทอร์เน็ตไทยมีความหลากหลายทั้งความสำเร็จ และล้มเหลว ในการย่างก้าวที่เริ่มอย่างจริงจังมาไม่เกินห้าปีนี้ ถึงแม้จะมีอินเทอร์เน็ต และเน็ตเวิร์ก LAN ในโรงเรียนระดับมัธยมปลายมากมายจนอาจพอบอกได้ว่า ดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน โรงเรียนประถมเดิมที่พัฒนาเป็นโรงเรียนมัธยมขยายโอกาส ที่สอนเพิ่มจนถึงม.3 ระบบคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนยังขาดแคลนอยู่มาก
ภาพที่คุ้นชินในทุกจังหวัดและทุกโรงเรียน คือชั้นเรียนสุดท้ายเลิกแล้ว ทีมงานกำลังเก็บเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก และพับจานดาวเทียม แต่ยังมีเด็กอีกอย่างน้อยสองสามคนที่ยังคงวนเวียนอยู่เสมอ รีรอต่อด้วยความเสียดาย หลายคนไม่ได้เสียดายอย่างเดียว แต่เข้าใจดีว่าประสบการณ์แบบนี้อาจไม่ได้มาเยือนอีก
“ที่บ้านไม่มีคอมพ์ให้เล่น พี่จะมาอีกเมื่อไหร่” ยังจำคำถามซื่อ ๆ พร้อมด้วยสายตาที่คาดหวังจากเด็กคนนึงที่เชียงราย และเป็นคำถามที่ตอบได้ยากเหลือเกิน
ในฐานะวิทยากรคงไม่อาจสัญญา หรือตอบคำถามตรงไปตรงมาอย่างนี้ สิ่งเดียวที่หวังได้ก็คือ ไม่ว่าต่อไปเด็กจะมีคอมพ์ให้ใช้ทั่วถึง หรือมีเน็ตเวิร์กความเร็วสูงในการเรียนสอนหรือไม่ อย่างไร นั่นคงเป็นเรื่องของอนาคตที่ยากจะตอบได้
|
เด็กนักเรียนประถมบ้านป่าตัน ลำปาง ได้ลองประสบการณ์จริงประกอบและซ่อมคอมพิวเตอร์ |
แต่สิ่งเดียวที่แน่ใจได้ในวันนี้ก็คือ ในวันนั้นที่เด็กทุกคนกลับบ้าน หรือมาโรงเรียนอีกครั้งในรุ่งขึ้น เขาจะมองทุกอย่างตลอดเส้นทางอย่างมีความหมายมากกว่าเดิมด้วยมุมมองที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นหลังคาบ้านตัวเอง หลังคาเพื่อนบ้านข้าง ๆ ถนนและซอยในหมู่บ้าน หรือแม้แต่สนามกว้างหน้าเสาธงก็ตาม
อย่างน้อยก็เคยเห็นผ่านภาพดาวเทียมมาแล้ว รวมทั้งรู้ว่าที่ใดที่หนึ่งในเน็ตเวิร์กที่โยงใยทั่วโลกกว้างใบนี้ มีข้อมูลทุกอย่างที่พวกเขาต้องการ มีความรู้ที่เขาจะนำไปเปลี่ยนอนาคตในวันหน้าของตนให้ดีกว่าปัจจุบันได้ มีเน็ตเวิร์กแห่งความรู้ของโลกเราทั้งใบรอคอยการค้นหาอยู่
อนาคตของการใช้งานไอทีในสังคมไทยคงไม่ไช่การสร้างเน็ตเวิร์กไอทีให้ทั่วถึงแต่ด้านเดียว แต่น่าจะเป็นการสร้างเน็ตเวิร์กแห่งความรู้ เพื่อรองรับสังคมใหม่ในอนาคต ที่คำว่า ผู้รู้ไม่ใช่คนที่จำเก่ง รู้ทุกอย่างอยู่ในหัวตัวเอง แต่เป็นผู้รู้ในความหมายใหม่ ที่ไม่รู้ด้วยตัวเอง แต่รู้ว่าจะหาข้อมูลหรือความรู้ที่ต้องการได้จากไหน อย่างไร
พวกเราทุกคนต่างอยู่ในเน็ตเวิร์กเดียวกัน.....แบ่งปันความรู้ร่วมกัน
|
ภาพร่างลายเส้นรถสื่อสารฉุกเฉิน ผลงานจากใจของเด็ก ๆ ที่เชียงราย |
|
เด็กนักเรียนโรงเรียนชุมชนบ้านแก่ง อุตรดิตถ์ |
-------------------------------------------------------------------------
รายละเอียดดำเนินการฝึกอบรมโรงเรียนในพื้นที่ภาคเหนือด้วยรถ EECV (กรกฏาคม-สิงหาคม 2550) โดย Nectec และ บริษัท Cisco
พื้นที่จังหวัดลำปาง-น่าน-อุตรดิตถ์-เชียงราย-แม่ฮ่องสอน-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์
จำนวนนักเรียนที่ได้รับการอบรมทั้งสิ้น 2715 คน
จำนวนครู-ผู้ปกครอง-เจ้าหน้าที่เทศบาลและ อบต. 161 คน
------------------------------------------------------------------
จังหวัดลำปาง:
9 ก.ค. เ ทศบาลตำบลป่าตันนาครัว
เริ่มงานวันแรกที่เทศบาลตำบลป่าตันนาครัว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
10 ก.ค. โรงเรียนบ้านป่าตัน ตำบลป่าตัน จังหวัดลำปาง
บรรยายให้คณะครูโรงเรียนบ้านป่าตัน (รร. ประถมขยายโอกาส) จำนวนรวม 15 คน
บรรยายให้นักเรียนชั้นต่าง ๆ โรงเรียนบ้านป่าตัน 3 กลุ่ม จำนวนรวมทั้งสิ้น 90 คน
สอนวีธีประกอบและดูแลคอมพิวเตอร์+ ตรวจเช็คห้องคอมพิวเตอร์ แนะนำแนวทางการใช้งานทั่วไป
11 ก.ค. โรงเรียนบ้านป่าตัน ตำบลป่าตัน จังหวัดลำปาง
12 ก.ค. โรงเรียนแม่ทะวิทยา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
13 ก.ค. โรงเรียนแม่ทะวิทยา อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
---------------------------------------------------------------------------------------------------
จังหวัดน่าน:
14 ก.ค. เซอร์เวย์พื้นที่เชียงราย-เดินทางไปน่าน
15 ก.ค. เดินทางถึงอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เซอร์เวย์พื้นที่โรงเรียนน่านนคร
16 ก.ค. โรงเรียนบ้านถืมตอง ตำบลถืมตอง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
17 ก.ค. โรงเรียนบ้านถืมตอง ตำบลถืมตอง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
18 ก.ค. โรงเรียนบ้านถืมตอง ตำบลถืมตอง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน
อบรมนักเรียนชั้นม 3 โรงเรียนถืมตองจำนวน 16 คน
อบรมชั้นประถมสี่ ห้าหก จำนวน 40 คน
อบรมนักเรียนชั้นป 6 จากโรงเรียน บ้านสะเนียน ตำบลสะเนียน อำเภอเมือง จังหวัดน่าน จำนวน 11 คน
19 ก.ค. โรงเรียนน่านนคร อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
20 ก.ค. โรงเรียนน่านนคร อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
-----------------------------------------------------------------------------------------------
จังหวัดอุตรดิตถ์:
21 ก.ค. เดินทางจากจังหวัดน่าน ไปยังจังหวัดอุตรดิตถ์
22 ก.ค. อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
23 ก.ค. ห้องประชุมเทศบาลตำบลบ้านแก่ง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
24 ก.ค. โรงเรียนชุมชนบ้านแก่ง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
25 ก.ค. โรงเรียนทองแสนขัน อำเภอทองแสนขัน จังหวัดพิษณุโลก
26 ก.ค. โรงเรียน ตรอนตรีศิลป์ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
4 กลุ่มละ 30 คน รวมทั้งสิ้น 120 คน
27 ก.ค. โรงเรียน ตรอนตรีศิลป์ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์
-------------------------------------------------------------------------------------------
จังหวัดเชียงราย:
28-29 ก.ค. เดินทางจากจังหวัดอุตรดิตถ์ไปยังอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เซอร์เวย์ที่พักและโรงเรียน
30 ก.ค. โรงเรียน แม่เจดีย์วิทยา ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงใหม่
31 ก.ค. โรงเรียน แม่เจดีย์วิทยา ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงใหม่
1 ส.ค. โรงเรียน แม่เจดีย์วิทยา ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงใหม่
2 ส.ค. โรงเรียนโป่งน้ำร้อน วิทยา ตำบลแม่เจดีย์ ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงใหม่
3 ส.ค. โรงเรียนบ้านโฮ่ง ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงใหม่
จังหวัดแม่ฮ่องสอน:
4-5 ส.ค. เดินทางไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน
6 ส.ค. โรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
7 ส.ค. โรงเรียนปางมะผ้าพิทยาสรรพ์ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
8-12 ส.ค. พักภารกิจชั่วคราวเนื่องจากทางเน็คเท็ค เลื่อนกำหนดการติดตั้งจุดเตือนภัยดินถล่มที่อำเภอปางมะผ้า และปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอนออกไป เป็นช่วงปลายปี
-------------------------------------------------------------------------------------------------
จังหวัดพิษณุโลก:
13 ส.ค. เดินทางถึงโรงเรียนวังทองพิทยาคม ตำบลชัยนาม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เซอร์เวย์สถานที่ติดตั้งและฝึกอบรม ไม่มีการสอน เนื่องจากวันจันทร์ที่ 13 เป็นวันหยุดชดเชยวันที่ 12 สิงหาคม
14 ส.ค. โรงเรียนวังทองพิทยาคม ตำบลชัยนาม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
15 ส.ค. โรงเรียนวังทองพิทยาคม ตำบลชัยนาม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
ใช้สถานที่ของโรงเรียนวังทอง อบรมให้เครือข่ายโรงเรียนประถม และประถมขยายโอกาสในละแวกใกล้เคียงดังนี้
นักเรียนโรงเรียนวัดสุพรรณพนมทอง ระดับชั้น ม.1-3 จำนวน 10 คน
นักเรียนโรงเรียนทรัพย์ไพวัลย์วิทยาคม ระดับชั้น ม.1-3 จำนวน 10 คน
นักเรียนโรงเรียนคุรุประชานุทิศ ระดับชั้น ม.3 จำนวน 10 คน
นักเรียนโรงเรียนบ้านบึงพร้าว ระดับชั้น ป.5,6 จำนวน 20 คน
รวมจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 50 คน
16 ส.ค. โรงเรียนพินพลราษฎร์ ตำบลวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
17 ส.ค. โรงเรียนวังทองพิทยาคม ตำบลชัยนาม อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก
---------------------------------------------------------------------------------
จังหวัดเพชรบูรณ์:
18-19 ส.ค. เดินทางไปอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ เซอร์เวย์โรงเรียนและที่พัก
20 ส.ค. ไม่มีการสอน เนื่องจากวันจันทร์ที่ 20 เป็นวันหยุดชดเชยในการลงมติรัฐธรรมนูญ
21 ส.ค. โรงเรียนบ้านดงขุย ตำบลดงขุย อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์
22 ส.ค. เทศบาลตำบลดงขุย ตำบลดงขุย อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์
23 ส.ค. โรงเรียนดงขุยวิทยาคม ตำบลดงขุย อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์
24 ส.ค. โรงเรียนดงขุยวิทยาคม ตำบลดงขุย อำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์
ใครที่คิดว่าเรื่องราวภาษาอังกิดที่เขียนที่นี่โอเค น่าสนใจ ฝาก share บอกต่อเพื่อนๆ ใน Facebook ด้วยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามภาษาอังกฤา หรือแก้ปัญหาการบ้านภาษาอังกฤษนะครับ
© สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ (English for learners - blog)