วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 18, 2556

เส้นทางสู่นครวัด-นครธม



โดย มารพิณ

  www.facebook.com/marnpinbook
แวะเที่ยว  หน้ารวมข้อมูลเที่ยวเอง-backpack-แบกเป้
ดูคลิปการเดินทาง  www.youtube.com/user/feelthai
มองหา ข้อมูลที่พัก โรงแรม รีสอร์ท



สู่นครวัด-นครธม

เส้นทาง: อรัญประเทศ – ตลาดโรงเกลือ – ปอยเปต – สะเรยโสพอน (ศรีโสภณ) – เสียมเรียบ – นครวัดและนครธม

ยุคเศรษฐกิจไม่คล่องแบบนี้ ถึงเราไม่มีเงินไปเที่ยวปิรามิดถึงที่อียิปต์ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ สิ่งมหัศจรรย์ระดับโลก อย่าง “นครวัด” มารออยู่ใกล้ๆ บ้านเราแล้ว เส้นทางนี้ไม่ไกลมากจากบ้านเรามากนัก เพียงแค่ไม่กี่ร้อยกิโลเมตรจากชายแดนไทยเท่านั้น อันที่จริงผมไปสำรวจทริปเส้นทางนี้ล่าสุดเมื่อกลางปี 2009 เสียเงินค่าเดินทางรวมกันแค่ 700 บาทเท่านั้นก็ถึงเสียมเรียบแล้ว ! ความจริงน่าจะถูกกว่านี้อีกถ้าไม่ใช้แท็กซี่แบบแชร์

ตลาดโรงเกลือ

วิธีการคือนั่งรถทัวร์ ปอ. 1 ไปจากกรุงเทพฯ ไปที่ตลาดโรงเกลือ ในอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ถึงแม้จังหวัดสระแก้วจะอยู่ในภาคตะวันออก แต่ก็ไปขึ้นรถที่สถานีขนส่งหมอชิตได้ แถมดูเหมือนจะมีรถเยอะกว่าด้วยโดยมีเที่ยวแรกออกตั้งแต่ราวตีสามหรือตีสี่ ถ้าไม่มีรถไปลงตลาดโรงเกลือก็นั่งรถอรัญประเทศไปก็ได้ครับ ต่อรถรับจ้างจากสถานีขนส่งอรัญฯ ไปอีกไม่กี่กิโลก็ถึงชายแดนเช่นกัน

เรื่องวีซ่าเข้าประเทศกัมพูชาควรทำก่อนที่กรุงเทพฯ จะเสียคนละ 20 เหรียญ ถ้าไปทำที่ชายแดนแบบผ่านนายหน้าเขาจะบวกค่านายหน้าเข้าไปอีกพอสมควร

ปอยเปต

ข้ามแดนไปกัมพูชาครับ ที่ปอยเปตไม่มีอะไรมากนอกจากเป็นเมืองการค้าชายแดนและคาสิโน แต่ตัวจังหวัดฝั่งเขมรไม่ได้ชื่อปอยเปตตามชื่อเมืองแต่ชื่อว่า บันเตียเมียนเจย (บันทายมีชัย) ออกมาแล้วจะมีท่ารถบริการไปขึ้นคิวรถ ข่าวร้ายให้ระวังแถวนี้มีนายหน้ามาติดต่อขายบริการรถหลายราย ไว้ใจไม่ค่อยได้เท่าไหร่ แต่ข่าวดีก็คือ เส้นทางจากด่านปอยเปตผ่านเมืองศรีโสภณ สู่เมืองเสียมเรียบ ระยะทาง 150 กิโลเมตร ได้ลาดยางถนนเรียบร้อยแล้วครับ ใช้เวลาเดินทางแค่ประมาณ 3 ชั่วโมง หรือถ้าไปรถบัสประจำทางก็ไม่น่าจะช้ากว่านี้มากนักเพราะปัญหาหนักอกเรื่องถนนได้หมดไปแล้ว

สะเรยโสพอน

นั่งรถมาจะถึงเมืองเล็กๆ มีภูเขาเตี้ยๆ อยู่ ภาษาไทยบอกว่า ศรีโสภณ ส่วนภาษาอังกฤษบอกว่า Sisophon แต่คำเขมรบอกว่า สะเรยโสพอน แปลว่า สาวสวย นะถ้าผมจำไม่ผิด เมืองนี้เป็นชุมทางสำคัญทางเหนือของประเทศโดยแยกไปต่อทางเสียมเรียบ ส่วนอีกแยกหนึ่งจะลงใต้ไปยังเมืองบัตดำบอง หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า พระตะบอง ดังนั้นพวกชื่อเมืองชื่อสถานที่ขอแนะว่าให้อ่านแบบเขมรดีกว่าคนฟังเขาจะได้เข้าใจ

กลางทางจะผ่านที่ราบเขมรที่สองข้างทางเป็นทุ่งโล่งทอดตัวยาวสุดตาไปถึงขอบฟ้า บางช่วงให้บรรยากาศเหมือนอยู่ในทะเลมากกว่าอยู่ในแผ่นดิน

เสียมเรียบ

ปลายทางของการเดินทางอยู่ที่ เมืองเสียมเรียบ ที่เป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเขมร และจะว่าไปแล้วทุกคนที่มาเที่ยวกัมพูชาก็ต้องมาที่นี่กันทั้งนั้น ดังนั้นจากเมืองขนาดกลางในอดีตได้กลายมาเป็นเมืองที่กำลังขยายตัว โดยมีโรงแรมขนาดใหญ่ที่รองรับนักท่องเที่ยวแพ็คเกจทัวร์ผุดขึ้นมากมาย ขณะเดียวกันก็มีเกสต์เฮาส์มากมายเปิดใหม่รองรับนักท่องเที่ยวแบบแบ็คแพ็คเกอร์เช่นกัน

จุดน่าสนใจคือนครวัด นครธม (อังกอร์วัต – อังกอร์ธม : Angkor Wat – Ankor Thom) เป็นกลุ่มปราสาทหินขนาดใหญ่มากมายรวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน ที่เด่นที่สุดคือ ปราสาทบายนที่แกะหินประกอบขึ้นเป็นรูปหน้าขนาดใหญ่ ตลอดปราสาทหินน้อยใหญ่อีกหลายสิบหลังที่กระจายอยู่ทั่วบริเวณ

ใครมาเที่ยวอย่าลืมเผื่อค่าธรรมเนียมในเข้าชมโบราณสถานด้วยครับ วันเดียว 20 เหรียญ ถ้าเที่ยวสามวันก็ 40 เหรียญ หรือจะเที่ยวครบอาทิตย์ก็ 60 เหรียญ และทางปฏิบัติเที่ยววันเดียวไม่หมดหรอกครับเพราะปราสาทมันเยอะจริงๆ ดังนั้นควรแพลนสำหรับการใช้เวลาเที่ยวโบราณสถาน 2-3 วันเป็นอย่างน้อย

ดู ข้อมูลที่พักในเสียมเรียบ

บัตรเข้าชมนี้จะระบุชื่อเราเอาไว้ แถมเวลาจ่ายตังค์เขาจะให้เราหันหน้ามองกล้องดิจิตอลแล้วเขาจะถ่ายรูปเรามาลงบัตรเอาไว้ด้วย ก่อนไปเที่ยวควรหาซื้อซองพลาสติกที่มีสายคล้องคอจากเมืองไทยเตรียมไปด้วยจะได้เอาไว้ใส่บัตรนี้ไม่ให้หาย พอจะเอาใส่กระเป๋าตังค์ก็ไม่เหมาะเพราะต้องควักเข้าควักออกโชว์เจ้าหน้าที่ซึ่งเฝ้าอยู่หน้าแต่ละปราสาท เดี๋ยวกระเป๋าจะหล่นหายตามบัตรไปด้วย

อย่าวางแผนเที่ยวตัวนครวัดตอนกลางวัน (10 โมงเช้าถึงบ่าย 4 โมงเย็น) เพราะจะร้อนแทบตับปลิ้น ให้ไปเที่ยวปราสาทบายน และปราสาทหลังอื่นๆ ในนครธมและบริเวณใกล้เคียงก่อน เช่น ปราสามตาพรหม พระขรรค์ แล้วเย็นๆ แดดร่มลมตกค่อยเดินเข้าดูนครวัด จากนั้นพอพระอาทิตย์ใกล้ตกดินก็ขึ้นไปชมวิวที่ปราสาทพนมบาแคงที่อยู่บนยอดเนินเขาเล็ก จะเห็นวิวพระอาทิตยย์ตก และทะเลสาบบารายตะวันตกขนาดใหญ่ กว้าง 2 กิโลเมตร ยาว 7 กิโลเมตรซึ่งขุดขึ้นในสมัยนครวัด

ตัวโบราณสถานอังกอร์วัดและอังกอร์ธม (Angkor Archaeological Park) จะมีระยะทางห่างจากตัวเมืองเสียมเรียบไปทางเหนือราว 4- 5 กิโลเมตร แนะนำว่าให้เหมาสามล้อมอเตอร์ไซค์ที่ค่าเหมาตกราววันละ 10-15 เหรียญ โดยคนขับจะไปรับเราจากที่พักในตอนเช้า เช่น 7 โมงเช้า และรับส่งเราตามโบราณสถานต่างๆ ตลอดทั้งวัน รอรับเราหลังดูพระอาทิตย์ตก ส่งถึงที่พัก

ใครที่ยังไม่จุใจกับปราสาทหินในเมืองพระนคร ก็มองหาที่เที่ยวรอบนอกได้ครับ เช่น ปราสาทบันเตียสะเรย (Banteay Srei) ซึ่งหมายถึงปราสาทของผู้หญิง ตัวปราสาทสร้าง เป็นหลังเล็กๆ ด้วยหินทรายสีชมพูแกะสลักภาพ สวยงามมาก อยู่ห่างจากโบราณสถานหลักในนครวัดนครธมไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 21 กิโลเมตร สามารถซื้อทัวร์ประเภทวันเดียวไป-กลับ พร้อมเที่ยวกบาลเซเปียน (หัวสะพาน ในภาษาไทย)

หรือมีทริปไปปราสาทขนาดใหญ่อีกแห่งแต่ไม่ค่อยมีคนไปมากนักคือ บันเตียชมาร์ (Banteay Chhmar) ซึ่งอยู่บนเส้นทางถนนหลวงโบราณที่เชื่อมนครวัดนครธมเข้ากับปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทมืองต่ำ ที่ปัจจุบันอยู่ในเขตไทยที่จังหวัดบุรีรัมย์ และปราสาทพิมาย ในจังหวัดนครราชสีมา

ผมจะไม่พูดถึงเรื่องรายละเอียดนครวัดลงไปมากกว่านี้ เพราะถ้าขยายต่อให้มากกว่านี้คงต้องเขียนหนังสือสองสามเล่มจึงจะครอบคลุมเนื้อหาได้สมบูรณ์ ใครที่วางแผนจะไปเที่ยวในเส้นทางปราสาทหินนี้ควรจะทำการบ้านหาข้อมูลหนังสือที่เกี่ยวกับนครวัดมาอ่านก่อน ซึ่งในภาคภาษาไทยก็มีพิมพ์ออกมาแล้วนับเป็นสิบเล่ม ลองหาอ่านดูครับ

ที่มีแนะนำให้มองหาตามร้านหนังสือก็คือ ตำนานแห่งนครวัด โดย จิตร ภูมิศักดิ์ , ตำนานสถาปัตย์แห่งนครวัด-นครธม โดย สมฤทธี บัวระมวล และ คู่มือนำเที่ยวนครวัด-นครธม โดย ยอด เนตรสุวรรณ, ศรัณย์ บุญประเสริฐ และ COMPACT GUIDE นครวัด นครธม โดย สยาม เล้าเจริญ ครับ ส่วนอีกเล่มที่น่าจะให้ภาพรวมความสัมพันธ์กับปราสาทหินที่อยู่ในเขตไทยเกือบ 100 แห่ง ทั่วประเทศ ก็คือ ปราสาทหิน โดย วิไลรัตน์ ยังรอด, ธวัชชัย องค์วุฒิเวทย์

นอกจากนี้ ถ้าใครอยากสัมผัสบรรยากาศ หรือเข้าใจความเป็นมาของแต่ละสถานที่ เพราะเรื่องการชมที่เที่ยวทางประวัติศาสตร์พวกนี้ถ้าเราไม่รู้เรื่องความเป็นมา มันก็เป็นเพียงกองก้อนหินที่มีรูปสลัก ทางเขมรยังมีไกด์ภาษาไทย บริการด้วย ถ้าสนใจให้ติดต่อจากที่พัก หรือสำนักงานท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายน่าจะตกราว 20-30 เหรียญต่อไกด์หนึ่งคนต่อหนึ่งวัน นอกจากนี้ควรมองหาไกด์ที่มีใบอนุญาตเท่านั้น

ที่พักในเสียมเรียบ

ย่านที่พักเกสต์เฮาส์และร้านอาหารสำหรับชาวแบ็คแพ็คเกอร์ในเมืองเสียมเรียบจะอยู่บริเวณโดยรอบตลาดปซาร์จ๊ะ (Psar Char) ที่อยู่ริมแม่น้ำเสียมเรียบ โดยคำว่า Psar หรือ ปซาร์ ในภาษาเขมรจะหมายถึงตลาดครับผม ที่ตลาดนี้ยังเป็นแหล่งช้อปปิ้งพวกของฝากด้วยเช่นกัน


 ใครที่คิดว่าเรื่องราว ข้อมูลการเดินทางที่เขียนที่นี่โอเค น่าสนใจ ฝาก share บอกต่อเพื่อนๆด้วยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามนะครับ เพราะเดินทางบ่อย คงมาตอบได้ไม่ทันใจ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ