วันเสาร์, พฤศจิกายน 27, 2553

อะไรอยู่ในห่อน้อย

โดย มารพิณ 


เช้าวันศุกร์นี้ โผล่มาอยู่ที่อุบลแล้วครับ  แวบแรกที่ลงจากรถบขส ที่สถานีขนส่งแถวบิ๊กซี ก็คือ  รู้สึกเย็นวูบขึ้นมาทันที เย็นจริงครับ  ไม่น่าเชื่อเลย ออกจากกรุงเทพฯมามันร้อนอยู่เลย

คราวนี้เอาเรื่องท่องเที่ยวบ้างครับ ภาษาอังกฤษพักไว้ก่อนนิดนึง ค่อยเขียนใหม่อีกทีตอนกลางวัน พรุ่งนี้

พอลงรถ เข้าห้องน้ำสบายตัวเรียบร้อยแล้ว มองไปเห็นมีแม่ค้าหาบของตั้งขาย ในกระบุงมีข้าวหลาม ฝักบัว และห่อประหลาดแปลกต่าในใบไม้สีเขียวอ่อน ใบใหญ่ ที่คิดว่าน่าจะเป็นพวกใบสัก  หรืออะไรพวกนั้น  แถมป้าแกเล่นเอาต้นหญ้ามามัดห่อซะเรียบร้อย  แบบนี้ได้รางวัลปลอดสารพิษ พิชิตโลกร้อน เต็มล้านเปอร์เซ็นต์





เจอแบบนี้ก็ต้องลอง...  เวลาเดินทางไปไหนด้วยตัวคนเดียวแบบไม่ง้อทัวร์เยี่ยงนี้ ข้อดีคือ จะแวะ หม่ำ เปิด ยัด รับประทาน ชิม อะไรที่ไหนก็ได้ ดังนั้นไม่ควรพลาดโปรโมชั่น "กินเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น"  นี้เป็นอันขาด

ในที่สุดก็ได้ของมาอยู่ในมือ  ในใจนึกว่าเป็น ไข่มดแดง หรือป่ะ  แต่ก็เดาเอาก่อนว่า ของอร่อยที่ต้องไปปรุงอย่างไข่มดแดง คงไม่น่าเอามาขายแถวขนส่งให้คนเดินทาง


แกะแล้วครับ... ไม่รอช้า ....




รู้สึกข้างในจะร่วนๆ  ........




คลี่ใบออกมา .... เหมือนจะได้กลิ่นหอม 






และแล้ว 2.14 วินาที ผ่านไป  




เราก็พบกับ 





ทราบมั้ยครับ ว่าอะไร ซ่อนอยู่ในห่อ...ข้าวเม่า นั่นเอง     ข้าวเม่าอ่อน ทำจากเมล็ดข้าวสีเขียว หรือเขียวอมน้ำตาล  รู้สึกว่าจะต้องพ้นระยะน้ำนมมาแล้ว  แต่ยังไม่สุกที่จะเกี่ยวมาสีเป็นข้าวสาร

ผมเคยได้ยินเขาเล่ามาว่า เวลาทำต้องเลือกเด็ดกับมือมาทีละรวง เพราะเหมือนกับว่า ข้าวทั้งกอ มันจะสุกไม่เท่ากัน


แต่วิธีกินเล่นไม่ยากเลย  นอกจากตักใส่ปากเลย เคี้ยวๆ ก็หอมข้าวใหม่  แต่ถ้ามีเวลา ใส่น้ำตาลทราย เกลือนิดหน่อย โรยมะพร้าวทึนทึกขูด  เป็นเส้นก็ได้ ฝอยก็ดี โปะหน้าแบบนี้เป็นได้อร่อยกัน

สมัยก่อน ไม่มีเลย์ขาย  ไม่มีกูลิโกะให้ซื้อ   ขนาดมาม่าซองเดียวยังต้องแบ่งกินกันกับเพื่อน 4 คนเลย  มีข้าวเม่า ข้าวจี่ก็ถือว่าหรูแล้ว 


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
 มีอะไรก็คอมเมนท์มาได้ นะครับ.... ใครมีความรู้เพิ่มเติมก็มาแชร์กัน ผมไม่ได้เก่งอะไรมากมาย ยังไงฝากบอกแนะนำลิงก์ของบล็อก feelthai.blogspot.com ต่อเพื่อนๆ ด้วย
 แต่ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามภาษาอังกฤา หรือแก้ปัญหาการบ้านภาษาอังกฤษนะครับ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ
 (English for learners - blog)