วันศุกร์, กรกฎาคม 08, 2554

รวมศัพท์ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ (ที่น่าปวดหัวและจำยาก)


โดย มารพิณ 
www.facebook.com/marnpinbook


ที่ยกตัวอย่างวันนี้  ไม่ใช่ศัพท์หรือเรื่องอะไรที่ควรจำ  เพราะจำไปก็ปวดหัวตายh่a  และขอบอกว่าสาเหตุที่ทำให้การเรียนภาษาอังกฤษน่าเบื่อ โดยเฉพาะแกรมมาร์ ก็เพราะว่า ไอ้คำตายซาก ศัพท์ผีดิบกองกอยพวกนี้ล่ะ

เพราะอะไร   อธิบายง่ายๆ ดังนี้

1- คำยากพวกนี้ ไปขวางการเรียนรู้ ทำให้ขาดตอน  เวลาเปิดหนังสือเรียน   หรือตำราไวยากรณ์เราจะรู้สึกได้เวลาอ่านว่า มันสะดุดเป็นช่วงๆ  เวลาสายตาเหลือบมาเจอคำพวกนี้ ไม่เชื่อลองหยิบตำราแกรมมาร์ภาษาอังกฤษอะไรก็ได้ ที่มีคำไอพวกนี้พิมพ์ติดหมึกอยู่บนหน้ากระดาษ  แล้วกวาดตาอ่านดู จะหงุดหงิดใจเวลาเจอศัพท์หน้าประหลาดชื่อพิสดารพวกนี้

2- ตอนที่เมืองไทยบัญญัติศัพท์ไวยากรณ์พวกนี้ สมัยนั้นทั้งบัณฑิต และผู้รู้ทั้งหลายล้วนแต่ผ่านการเรียนในวัด การบวชเรียนในวัด  เรียนคัมภีร์โบราณ หัดเขียนทั้งอักษรไทยและขอม(เขมรโบราณ)  อย่างเลขไทยเรา จริงๆ แล้วไม่ใช่เลขไทย แต่เป็นเลขขอม ที่รับมาจากอาณาจักรขอมโบราณ  เหมือนเลขฝรั่ง ก็ไม่ใช่ของฝรั่งหรอก  แต่เป็นตัวเลขที่รับมาจากอาหรับ (เลยเรียกว่า เลขอารบิก ไง) ของแบบนี้ไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไร

นอกเรื่องไปนิด  กลับเข้าเรื่องของเราดีกว่า   แบคกราวนด์แบบนี้ทำให้ พอมีสถานการณ์ที่จะบัญญัติศัพท์ไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ  ให้เป็นคำไทย ก็เลยไปใช้คำภาษาที่อิงคำอินเดียโบราณมาทั้งดุ้่น  ซึ่งคนรุ่นนั้นเป็นปราชญ์ใหญ่ เรียนบาลี สันสกฤต ร่ายเวทย์ เสกมนต์กันคล่อง  คำพวกนี้ไม่ยาก ไม่แปลก

แต่มาสมัยเรา รุ่นหลัง รากแบบนั้นมันหายหมดแล้ว ก็เลยเป็น "คำตาย"  เป็น "ฟอสซิล" ที่อ่านไม่รู้เรื่องซักที
3- ผมเคยย้ำ ในหนังสือเล่มหลักของผม "ภาษาอังกฤษร้ายสาระ"   ว่า ศัพท์พวกนี้ เป็นเหมือน "ศัพท์ช่างไวยากรณ์"  ซึ่งบางทีเราไม่จำเป็นต้องรู้ไปเสียหมด  เพราะเราไม่ใช่ช่าง  ไม่ได้เรียนเพื่อจะไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ

เหมือนเราขับรถ เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่าการทำงานของหัวฉีด หรือกลไกอื่นๆ ของเครื่องเป็นอย่างไร  เพราะเราไม่ใช่ช่าง ไม่ใช่นักแข่งรถ  หรือนักอะไรก็ตามที่ทำมาหากินกับรถ

ใครอยากฝึกแนวแกรมมาร์ก็ได้ ผมไม่ห้าม  ชีวิตทุกคนกำหนดเอง  แต่คงมีไม่กี่คนที่พิชิตแกรมมาร์พิสดารจนทำได้ดี  วิชาไวยกรณ์มันเหนื่อยเกินไป มันฝืนธรรมชาติภาษาไทยมากไป ดังนั้นจึงมีไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จ และเป็นแนวทางคนเก่ง  ที่มีแต่คนเก่ง คนขยันเท่านั้นที่จะไปรอดตลอดฝั่งได้

มาดูตัวอย่างคำพวกนี้ครับ จะเจอตามหนังสือเรียน  หนังสือไวยากรณ์อังกฤษและ อะไรที่เก่าๆ ทั้งหลาย

A. = Antonym    คำศัพท์ความหมายตรงกันข้าม


adj. = adjective   คุณศัพท์


adv. = adverb     กริยาวิเศษณ์


conj. = conjunction  สันธาน


fem. = feminine   เพศหญิง


interj. = interjection คำอุทาน


n. = noun นาม


pl. = plural นามพหูพจน์


prep. = preposition บุพบท


pron. = pronoun สรรพนาม


S. = Synonym  คำศัพท์ความหมายเหมือนกัน


v. = verb กริยา


v. aux. = auxiliary verb  กริยานุเคราะห์


vi. = intransitive verb  อกรรมกริยา


vt. = transitive verb  สกรรมกริยา

ยกมาพอหอมปากหอมคอ   มีซับซ้อนกว่านี้อีก  แต่ถามเถอะ !   จะรู้ไปทำไม อ่านเข้าใจมั้ย   ทำไมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในไทยถึงมีแต่พิธีกรรมที่ทำตามๆ กันมา  ทำตามกันต่อชั่วลูกหลาน จมลงบ่อ ทำไมไม่หาทางออกทางสว่าง ที่ปฏิบัติได้จริง

ฝากไว้คิดกันต่อครับ


รวมลิงก์หนังสือมารพิณ

ไม่ต้องซีเรียสมาก แวะเข้ามาอ่านวันละตอนสองตอนก็พอ ยังไงฝากบอกแนะนำบล็อก feelthai.blogspot.com ต่อเพื่อนๆ ด้วย แต่ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามภาษาอังกฤา หรือแก้ปัญหาการบ้านภาษาอังกฤษนะครับ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ
 (English for learners - blog)