วันพุธ, ตุลาคม 24, 2555

สู่สังคมไม่แคร์สื่อ: ยุคสมัยที่ “ยูสเซอร์”กับ “สื่อ”ไม่มีอะไรต่างกัน


โดย มารพิณ
ไป เฟซบุ๊ค   www.facebook.com/marnpinbook

บทความชิ้นนี้ผมเคยเขียนไว้เมื่อ ปี 2007  หรือประมาณ 5 ปีมาแล้ว จำไม่ได้แล้วว่าเขียนลงที่ไหน แต่ที่เอามาลงใหม่เพราะกำลังคุยเรื่องประเด็นนี้กับเพื่อนที่เป็นสื่อในมีเดียแบบเก่า และคิดว่าประเด็นและมุมมองทางยุทธศาตร์ที่เคยเขียนเอาไว้ยัง "เป็นผล"และ "ชัดเจน" อยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน  อยากให้หลายคนอ่านและติดตาม

ต้องขอบอกว่า มีเรื่องนึงที่ไม่ได้พูดถึงไว้ในบทความ  คือ การปรากฏตัวของ ไอแพด กาแล็กซี และแท็บเล็ททั้งหลาย  ที่ยิ่งขยายผล ขยายประเด็นที่พูดถึงในบทความชิ้นนี้ให้เป็นจริงเป็นจังยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ  ผมคาดไม่ถึงเลยด้วยซ้ำว่าจะ "กระดานชนวนดิจิตอล" นี้จะมาแรงถึงระดับนี้ ที่เห็นในปัจจุบัน

ลองมาอ่านกันดูครับ ด้านล่างนี้....
สู่สังคมหลากมิติ-มีเดียท่วม-หนังสือพิมพ์ตาย 
ยุคสมัยที่ “ยูสเซอร์”กับ “สื่อ”ไม่มีอะไรต่างกัน


ในช่วงสองสามปีหลังโลกออนไลน์ทั้งเมืองไทยและเมืองนอกเปลี่ยนไวเหมือนโกหก  สื่อเก่าตายไป-สื่อใหม่เกิดมาแทนที่  คอนเทนท์แบบเดิมที่เคยแยกประเภทเป็น งานเขียน  ทีวี   วิทยุและเพลง ได้เปลี่ยนร่างกลายพันธุ์เป็น บล็อก  เป็นพอดคาสต์   เซิร์ชเอ็นจิน  โปรแกรมแช็ตเมสเซ็นเจอร์  เป็นแคมฟร็อก เป็นเคเบิลทีวีแบบอินเตอร์แอคทีฟ   กูเกิ้ลเอิร์ธ์  เรียลลิตี้ทีวี วิทยุออนไลน์  เครื่องเล่นเอ็มพีสาม  สารานุกรมฉบับบออนไลน์อย่างวิกิพีเดีย   และอีกสารพัดรูปแบบที่พลิกผันไป

สังคมไทยและโลกกำลังได้เห็นยุคใหม่ของ “คอนเทนท์”   คำฝรั่งที่ไทยเราเอามาเรียกจนติดปาก  คอนเทนท์หมายถึงเนื้อหา  สาระ ที่นำเสนออกไปในวงกว้าง  กระจายผ่านเส้นสายข้อมูลที่โยงใยอยู่ในเน็ต วิ่งผ่านอากาศด้วยคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ  ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของสื่อดิจิตอลที่เป็นตัวอักษร รูปภาพ กราฟิก ภาพเคลื่อนไหวหรือเอนิเมชั่นก็ตาม

เศษเสี้ยวของความเป็นไปที่กำลังปรากฏขึ้นในโลกออนไลน์ กำลังประกอบรวมขึ้นเป็นภาพใหญ่แห่งอนาคต ความเคลื่อนไหวแต่ละก้าวตรงนี้ อาจหลุดพ้นความเข้าใจของสังคมส่วนใหญ่ ที่ถึงแม้ขณะนี้จะเริ่มเปลี่ยนตามแต่อาจยังมองไม่เห็นภาพรวมที่กำลังก่อตัว

แต่ไม่ใช่เพราะ “ไม่รู้จัก”  เหมือนสื่ออินเทอร์เน็ตและเว็บเหมือนเมื่อห้าหรือสิบปีก่อน  แต่เพราะรู้จักและใช้งานมันจนชิน จนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปต่างหาก 

ในทุกวันของแต่ละสัปดาห์  ยูสเซอร์นับล้านที่เป็นคนไทย พูดภาษาไทย และอยู่ในเมืองไทยกำลังล็อกอินเข้าอินเทอร์เน็ตทุกวัน  ด้วยกลุ่มหลากหลายตั้งแต่เด็กมัธยมต้นจนถึง ผู้เกษียณอายุ   ทุกคนติดต่อถึงใครบางคนในเน็ต  แช็ตคุยกัน สร้างสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์  หาข้อมูลสินค้า และเริ่มทดลองจ่ายเงิน หรือใช้บริการอีคอมเมิรซ์ในเน็ตกันบ้าง ถึงแม้ไม่มากเท่าสังคมอเมริกันแต่ยอดใช้จ่ายออนไลน์เมืองไทยก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แบบไม่มีถอย

สื่อเก่ากำลังถูกท้าทายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน  หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับ “จำเป็น” ต้องหันมาปรากฏตัวในโลกออนไลน์  ทีวีช่องเดิมและละครเรื่องเก่ากำลังเจอเข้ากับรายการแบบใหม่ในทีวีช่องอื่นอย่างเรียลลิตี้ทีวี ที่ไปไกลถึงขนาดที่ถ่ายทอดคนนอนหลับสด ๆ ลงจอก็ยังมีคนรอดู  และขนาดไม่มีทีวีดูก็ยังหาเน็ตดูก็มี

ตลาดใหม่  กลุ่มใหม่และความเคลื่อนไหวใหม่ ๆ พวกนี้กำลังรอการอธิบายและนิยามใหม่  ท้าทาย ความเชื่อ และพฤติกรรมเดิม เจาะลึกบนความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของโลกดิจิตอล  นำเอารูปแบบที่กำลังวิวัฒนาการไปสู่สิ่งใหม่มาปอกเปลือกให้เห็นเส้นทางและความเป็นไป

สังคมสมัยใหม่ที่นักสื่อสารมวลชน  หรือนักหนังสือพิมพ์รุ่นเดอะ  เคยคิดว่าจัดการได้อยู่หมัด กลับเปลี่ยนผันจนไม่มีใครรู้ว่าอะไรเป็นอะไร  ทุกคนต้องเริ่มเรียนรู้กันใหม่กับ สื่อผสมแบบ mash-ups ที่ผสมสื่อหลายแบบให้เป็นการนำเสนอแบบใหม่ ๆ   เครื่องอัดรายการทีวีดิจิตอล โฆษณาออนไลน์ที่เจาะขายตามโพรไฟล์ยูสเซอร์และความสนใจ    iPods และ iPhone   เครือข่ายสังคมออนไลน์   หนังสือพิมพ์ฟรี   เว็บไซต์โหลดและแชร์ภาพออนไลน์ และอื่น ๆ อีกมากมายที่กำลังตามมา

ในขณะที่ธุรกิจทีวีแบบเดิมกำลังประสบความสำเร็จอย่างชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนทั้งในแง่เม็ดเงินโฆษณาและกระแสเรตติ้งความนิยม  แต่ในช่วงสามปีหลังที่ผ่านมา สื่อวิดีโอดิจิตอลกระแสใหม่ได้เริ่มก่อตัวอย่างเงียบ ๆ และเริ่มจุดอุณหภูมิการแข่งขันร้อนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ  ตามกระแสเว็บวิดีโอ ที่การระบาดแบบ Viral Video  ของคลิปวิดีโอจากซีกโลกหนึ่งไปยังอีกซีกโลกหนึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วชั่วพริบตา

จะเรียกว่า “ยูทูบ” หรือ “ยูทิวบ์”   หรือยังไงก็แล้วแต่  ไซต์ดังอย่าง  YouTube ความจริงเป็นแค่หนึ่งในไซต์วิดีโอออนไลน์จำนวนมากมายที่กำลังเกิดขึ้นในเน็ตเวิร์กทุกวันนี้   และความสำคัญของสื่อนี้คงไม่ใช่เฉพาะแค่ทีวีล้านช่องในโลกออนไลน์  แต่เป็นลิงก์วิดีโอต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุดนับล้านลิงก์ที่ทำให้เว็บวิดีโอโดดเด่นขึ้นมาอย่างชัดเจน

หรือว่าแอพพลิเคชั่นเว็บวิดีโอ  คือโปรแกรมยอดฮิตในอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้า?   จริงหรือว่า ยุคใหม่ของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ส่งผ่านจากอดีตของภาพและกราฟิก มาเป็นสื่อวิดีโอผสมที่ไม่มีอะไรหรือใครมากำหนดทิศทางได้   แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับมูลค่าการตลาดและเม็ดเงินโฆษณา ของทีวีกระแสหลักในอนาคต?  ถดถอยลง หรือแปลงร่างใหม่เป็นทีวีออนไลน์ที่เปลี่ยนอุปกรณ์รับชมจากทีวีจอแก้วไปเป็นทีวีจอคอมพ์?
มีคำเรียกขานมากมายถูกสร้างขึ้นมาเพื่อพยายามอธิบาย ความเป็นไปอันยุ่งเหยิงที่กำลังก่อตัว  คำว่า  “เว็บ 2.0”  บ้างล่ะ หรือ “นิวมีเดีย”  หรือ โลกของ “media  convergence”   

แต่บนความหลากหลายนี้  มีรูปแบบบางอย่างที่ชัดเจนและเด่นขึ้นมาจนสามารถพอระบุได้ว่าอะไรเป็นอะไร มีจุดร่วมตรงไหน ที่พอจะสรุปได้ดังนี้

สื่อดิจิตอล : 
พลังปฏิวัติรวมศูนย์อยู่ที่สื่อดิจิตอลเท่านั้น ชื่อเรียกไม่สำคัญ  สำคัญที่ทุกสิ่งอยู่ในรูปดิจิตอล ที่แปลงรูปเปลี่ยนการนำเสนอเป็นสื่ออื่นได้ทันทีทุกที่ทุกเวลา  คอนเทนต์เดียวกลายร่างและกระโดดข้ามจากเว็บไปสู่มืถือ  ไปที่เครื่องเล่นวิดีโอเกม  ไปสู่แผ่นดีวีดี   ไป จากเครื่องวินโดวส์ไปสู่แม็ค กลับจากแม็คมาวินโดวส์  วิ่งจากโนเกีย ไป iPhone  โดยไม่มีอุปสรรคด้านเทคโนโลยี  เวลา สถานที่  หรือแม้แต่กฎหมายรัฐที่ล้าสมัยก็จำกัดมันไม่ได้


ทุกคนสร้างคอนเทนต์ ได้เองและกระจายต่อไปได้ไม่รู้จบ :
ไม่มีเหตุผล หรือเงื่อนไขอะไรที่จะมาห้ามไม่ให้ยูสเซอร์ผลิตคอนเทนต์เองได้   ความเห็นและคอนเทนต์ส่วนบุคคลสร้างขึ้นได้ด้วยโปรแกรมทูลมากมาย และโพสต์ขึ้นเว็บได้ทุกเวลา   และนับจากวินาทีที่อัปโหลดหรือโพสต์ขึ้นเว็บ  คอนเทนต์เหล่านั้นก็พร้อมเสมอที่จะสื่อสารกับคนทั่วโลกแบบไม่จำกัดสถานที่เวลา ชนชั้น หรือประเทศ

บทบาทของสื่อโลกเก่าอย่างหนังสือพิมพ์กระดาษกำลังจะหมดไป  ถ้ากลายร่างสู่ฟอร์แม็ตใหม่ไม่ได้ก็คงต้องรอวันตาย

ทุกคอนเทนต์เสมอภาคกัน:  
หมดสมัยของการสื่อสารทางเดียว  คนส่งสารอย่าง คอลัมนิสต์ชื่อดัง  บรรณาธิการหมาเฝ้าบ้าน พิธีกรรูปหล่อ จะไม่ต่างอะไรจาก คนดูที่พร้อมจะผลิตรายการขึ้นมาแล้วโหลดขึ้นเน็ทให้คนดูผ่านเว็บไซต์วิดีโออย่าง youtube.com หรือไซต์วิดีโออื่นอีกนับสิบในเน็ต

คนอ่านหนังสือพิมพ์สามารถโพสต์ความเห็นของตนลงท้ายข่าว  สร้างบล็อกของตัวเอง  คนรับสารที่มีอำนาจควบคุมคอนเทนต์ของตัวเองผ่านสื่อดิจิตอลได้เสมอ

ไม่จำกัดพรมแดน หรือภาษา: 
 พรมแดนที่แบ่งประเทศไม่มีความหมายในโลกออนไลน์   คนที่คุณคุยด้วยที่อยู่บางนา ไม่แตกต่างอะไรกับอีกคนที่คุยจากสเปน  หรือนิวยอร์ก   อำนาจรัฐเป็นเรื่องไร้สาระ ในโลกดิจิตอลที่เป็นจริงเสียยิ่งกว่าจริง

ผสมสร้างสื่อใหม่ไม่รู้จบ: 
ผสมการนำเสนอจากสองสื่อให้เป็นหนึ่งเดียว แล้วเปลี่ยนให้เป็นสื่อใหม่ สร้างการนำเสนอใหม่  เช่น  เอาแผนที่มาผสมกับภาพวิดีโอ สร้างเว็บไซต์แผนที่ผับและร้านอาหารที่เล่นเพลงแจ๊สที่มีภาพเคลื่อนไหวและเสียงจริง ๆ ประกอบ

อุปกรณ์พร้อม-คอนเทนต์กำลังมา  

ผู้บริโภคคอนเทนท์ดิจิตอลคือยูสเซอร์ ที่พร้อมจะรับสารและสร้างสารในด้านฮาร์ดแวร์   ความหมายชัด ๆ ก็คือ  มีอุปกรณ์ที่สามารถเปิดดูอ่าน หรือฟังคอนเทนต์ดิจิตอลได้  รวมทั้งสร้างคอนเทนต์ที่ส่งกลับไปสู่โลกอินเทอร์เน็ตได้เช่นกัน ในแง่นี้เมืองไทย คงพร้อมยิ่งกว่าพร้อม เพราะราคาเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คร่นลงมาแตะระดับสองหมื่นต้น ๆ หรือต่ำกว่าสองหมื่นก็มีแล้วในหลายรุ่น  ในขณะที่เครื่องพีซีประกอบเองไม่มียี่ห้อราคาพร้อมจอมอนิเตอร์ลเหลือหมื่นบาทหรือต่ำกว่า นั้นด้วยซ้ำ

สำหรับฮาร์ดแวร์อื่น ๆ  เครื่องเล่นเอ็มพี 3 เสียงแจ๋วจากเมืองจีน ราคาลงเหลือไม่ถึงพัน ในขณะเครื่องเอ็มพี 4  ที่เปิดวิดีโอ ได้ ราคาเหลือแค่พันต้น ๆ

นอกจากนี้ยังมีโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานได้หลากหลายราคาลงมาเหลือไม่กี่พัน  ค่าบริการเน็ตความเร็วสูงเหลือไม่ถึงพันต่อเดือน  กล้องดิจิตอลราคาไม่ถึงหมื่น  กล้องวิดิโอขนาดเล็กราคาแค่หมื่นกว่าบาท  เว็บแคมราคาไม่กี่ร้อยบาท ฮาร์ดดิสก์ขนาดมาตรฐานราคาไม่ถึงสองพัน ในขณะที่ราคาเมโมรีคาร์ดและทัมป์ไดร์ฟร่วงลงมาเหลือเหลือกิ๊กกะไบต์ละไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น

ราคาเมโมรีหรือหน่วยความจำคอมพิวเตอร์ก็ลดลงอย่างมากตามราคาตลาดโลก   เมื่อมีทั้งหน่วยความจำและฮาร์ดดิสก์ความจุสูง ยูสเซอร์ทางบ้านที่มีเครื่องเล่นวิดีโอและคอมพิวเตอร์ของตัวเองบวกกับซอฟต์แวร์ตัดต่ออีกนิดหน่อยก็สามารถสร้างงานหนังง่าย ๆ ที่สูสีคุณภาพของ สตูดิโอหรือโปรดักชั่นเฮาส์แถวย่านทาวอินทาวน์ ขึ้นมาได้

รวมทั้งอายุเริ่มต้นของคนที่มีอุปกรณ์พวกนี้ใช้งานก็ลดต่ำลงเรื่อย ๆ เช่นกัน  มีรายงานของเวิล์ด ไวร์เลส ฟอรัม ระบุว่า  จำนวนของเด็กอายุ 5-9 ขวบที่มีมือถือในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าไปเป็น  64  เปอร์เซ็นต์ภายในสิ้นปี  2007 นี้

ขณะเดียวกัน การใช้งานในกลุ่มผู้สูงอายุก็เพิ่มเช่นกัน ข้อมูลของ The Observer  ชี้ประเด็นที่น่าสนใจว่า   17  เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็นเจ้าของเครื่องเล่นวิดีโอเกมโซนี่ เพลย์สเตชั่นในสหรัฐฯ นั้น มีอายุเกินห้าสิบปี!  ลองคิดดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น สำหรับแคมเปญการตลาดเพลย์สเตชั่นถ้าละเลยกลุ่มผู้เล่นจำนวนมากถึงหนึ่งในห้าที่เป็นวัยกลางคน เพราะคิดแค่ว่ากลุ่มเล่นเพลย์สเตชั่นมีแต่เด็กวัยรุ่น เท่านั้น

จากข้อมูลทุกอย่างทุกทางกำลังชี้ชัดว่าเรากำลังมุ่งสู่การบูมครั้งใหญ่ของคอนเทนต์ดิจิตอล เพราะทุกสื่อทุกอุปกรณ์พร้อมและกำลังกระหายรอคอนเทนต์ในรูปแบบใหม่ที่จะมาวิ่งในสื่อใหม่ 

คอนเทนต์กำลังก่อรูปก่อร่างด้วยการเริ่มแชร์ไว้ในแบบออนไลน์ก่อน  ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของข้อความตัวอักษร  ภาพถ่าย และวิดีโอ  มีตัวเลขระบุว่า ในตลาดที่พัฒนาไปเต็มรูปแล้วอย่างอเมริกามียอดยูสเซอร์เกือบห้าสิบล้านรายที่สร้างคอนเทนต์ดิจิตอลแล้วนำไปโพสต์ไว้ในเน็ต

ยิ่งไปกว่านั้น  จาการสำรวจของ Pew Research เมื่อปลายปี  2005 ที่ผ่านมา  พบว่าวัยรุ่นอเมริกันมากกว่าครึ่งสร้างคอนเทนต์ในอินเทอร์เน็ต   ในเมืองไทยแม้ยังไม่มีการสำรวจเรื่องนี้โดยตรง แต่คาดว่าจะอยู่ใกล้เคียงกัน ยูสเซอร์ไทยจำนวนมากเริ่มสร้างคอนเทนต์ของตัวเองในรูป ไดอารีออนไลน์ บล็อก โพสต์รูปลงเน็ตมากขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราก้าวกระโดด

กระแสใหม่นี้ไม่อาจละเลย จะเห็นได้จากสองค่ายหนังสือพิมพ์ต่างขั้วของเมืองไทยได้หันมารับรูปแบบบล็อกที่ยูสเซอร์ที่เคยเป็นผู้อ่านธรรมดา ๆ หันมาใช้รูปแบบบล็อกที่เลื่อนขั้นยูสเซอร์ทางบ้านมาเป็นนักเขียน-คอลัมนิสต์ เรียบร้อยแล้ว


อนาคตหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
ต้องเร่งปรับโฉมหรือไม่ก็ตาย 

สื่อสิ่งพิมพ์เคยเป็นสุดยอดของความยิ่งใหญ่  สัญลักษณ์ของการครองใจผู้อ่านกลุ่มที่มีการศึกษา และมีอำนาจในสังคมทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม   สิ่งที่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ทั้งเมืองไทยเมืองนอกเคยบอกว่าจริง สิ่งนั้นเรื่องราวนั้นก็กลายเป็นความจริงเสมอ เพราะไม่มีการนำเสนออื่นให้เลือก

แต่สภาพเป็นไปที่เห็นในเน็ตทุกวันนี้ บอกว่าไม่จริงเสมอไป  ข้อแรกทุกคนสามารถเป็นนักข่าวและคอลัมนิสต์ได้ทันทีที่ต้องการ  ในขณะที่จำนวนหนังสือพิมพ์ทั้งในอเมริกาและยุโรปก็ลดลงเรื่อย ๆ  ในอนาคตสื่อที่ดูถูกยูสเซอร์อินเทอร์เน็ตว่าไม่โปรเฟสชั่นแนลเท่าตัวจะต้องน้ำตาตก เหมือนช่างเรียงพิมพ์ที่ตกงานอนาถในยุคที่ความไฮเทคมาสัมผัสสื่อสิ่งพิมพ์

เมื่อเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ตใหม่ ๆ ค่ายหนังสือพิมพ์จำนวนมากลังเลใจที่จะกระโดดร่วมวงกับสื่อออนไลน์   บางรายที่เข้ามาก็สร้างรูปแบบของโมเดลเก็บเงินค่าสมาชิกที่พิสูจน์ออกมาทีหลังว่าไม่ได้ผล  เพราะไม่มีใครยอมจ่าย ในเมืองไทยก็เช่นกัน  ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะมีการยอมรับรูปแบบหนังสือพิมพ์เปิดอ่านฟรีในเน็ต  และในตอนนี้หนังสือพิมพ์ใหญ่ ๆ  ในเมืองไทยก็มีเว็บไซต์กันแทบทุกฉบับ ซึ่งบรรณาธิการหลายคนคิดว่าทำแค่นี้คงจะพอสำหรับสื่อดิจิตอล

แต่เวลานี้ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ของตัวเองไม่ได้เป็นคำตอบเดียวอีกต่อไปแล้ว  คำถามถัดมาก็คือ หนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ของคุณจะยืนอยู่จุดไหน จะวางตัวอยู่จุดไหนในตลาดและอย่างไรต่างหาก

สภาพการณ์ที่เกิดใหม่หลังยุคบล็อก(Blog) หรือเว็บบล็อกบูมขึ้นมาทั้งในไทยและต่างแดน ก็คือ ทั้งหนังสือพิมพ์ออนไลน์และเว็บบล็อกกลายเป็นสิ่งมีชีวิตสองสปีชีส์ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันในสภาพแวดล้อมเดียวกันอย่างไม่น่าเชื่อ

เว็บบล็อกไม่ได้แข่งกับหนังสือพิมพ์อย่างเดียวอย่างที่หลายคนเคยเชื่อ  แต่ยังทำหน้าที่ส่งลิงก์ให้ผู้อ่านในเน็ตรายอื่น ๆ ได้คลิกเมาส์เข้าไซต์ข่าวเช่นกัน  สร้างกลุ่มผู้อ่านใหม่ ๆ จำนวนมากที่ไม่ได้ เข้าไซต์ข่าว หรือไม่เคยคิดจะเปิดเข้าไซต์ข่าวด้วยตนเองมาก่อน

ประเด็นง่าย ๆ ตรงนี้ก็คือ หนังสือพิมพ์ที่จะอยู่รอดและเติบโตในสภาพแวดล้อมดิจิตอลได้ต้อง ได้ลิงก์จำนวนมากมาจากเว็บบล็อก(Bloggers reference) คำนี้หมายความว่าไง  หมายความว่า  ทุก ๆ วันจะต้องมีเว็บบล็อกจำนวนมากส่งลิงก์มาให้ นั่นเอง

ข่าวดีต้องมีการบอกต่อ  นี่เป็นอีกวิธีของการบอกต่อในสังคมดิจิตอลนั่นเอง  ทุกวันนี้ ถ้าเราสนใจข่าวไหน เราก็บอกได้หลายทาง แทนที่จะปากต่อปากอย่างเดียว เราก็สามารถส่งลิงก์ต่อทางอีเมล์  ส่งทางโปรแกรมเมสเซ็นเจอร์ และบอกต่อด้วยการประกาศลิงก์ข่าวนั้นลงเว็บบล็อกของตัวเอง

ซึ่งในเคสของเมืองนอก ผลจากากการสำรวจพบว่า  หนังสือพิมพ์อย่าง Washington Post, The Guardian และ  Financial Times  ถูกพวกบล็อกเกอร์ลิงก์ข่าวไปหามากกว่าไซต์หนังสือพิมพ์อื่น  .

ในทางกลับกัน  หนังสือพิมพ์ก็ลิงก์ข่าว กลับมาที่เว็บไซต์และบล็อกมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน  นอกจากจะลิงก์มาแบบประกอบข้อมูลข่าวแล้ว ยังลิงก์มาในฐานะที่เป็น “แหล่งข่าว”  มากขึ้นเช่นกัน   ปรากฏการณ์นี้น่าสนใจมากเพราะอย่าลืมว่าประวัติศาสตร์เว็บบล็อกหรือเว็บไดอารีที่เรารู้จักกันนี้เพิ่งมาบูมกันไม่ถึงสองปีมานี้เอง  ขณะเดียวกันก็อธิบายได้ว่า   รูปแบบและเนื้อหาของบล็อกมีการขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ  ทั้งปริมาณและคุณภาพจนสื่อกระแสหลักที่เคยปฏิเสธการยอมรับต้องหันมาสนใจอย่างจริงจัง

นี่เองอาจอธิบายได้ว่า ทำไมค่ายหนังสือพิมพ์สองแห่งอย่างผู้จัดการและเนชั่น จึงตัดสินใจเปิดเว็บบล็อกของตัวเองขึ้นมา อย่างเป็นทางการ  (อ่านข่าวประกอบ)  เพราะหากไม่รีบตัดสินใจแบรนด์ใหม่ นักเขียนใหม่จะปรากฏขึ้นมาเร็วมาก ในขณะที่แบรนด์เก่าและสิ่งพิมพ์เก่าอาจจะเสียพื้นที่ตลาดที่เคยมีไปได้แค่ชั่วข้ามคืน

ไม่เพียงแต่ค่ายเนชั่นและผู้จัดการเท่านั้นที่เร่งปรับตัว  หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ  ก็เร่งปรับตัวเช่นกัน เพิ่มคอนเทนต์ออนไลน์  วางโมเดลรายได้มาหาโฆษณาออนไลน์มากขึ้น เพิ่มรูปแบบและพื้นที่โฆษณาออนไลน์ใหม่ ๆ ติดตามข่าวที่ตรงประเด็นความสนใจของผู้อ่านออนไลน์

นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์อื่น ๆ ตามมาเช่น เว็บไซต์อย่าง  www.norsorpor.com  ที่มาจากไหนก็ไม่รู้แต่สร้างปรากฏการณ์ mashup  ด้วยการดึงหัวข้อข่าวจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ไทยต่าง ๆ มาสร้างลิงก์ใหม่ เชื่อมต่อกับไปยังไซต์ข่าวโดยตรงจนได้รับความนิยมเหมือนกับไซต์หนังสือพิมพ์อีกเล่มหนึ่ง   เช่นเดียวกับ news.google.com ที่ รวมข่าวภาษาอังกฤษเข้าไว้ จากทุกแหล่งทั่วโลก นำเสนอใหม่ในหน้าจอเดียว

อันที่จริงการเปลี่ยนหันมายอมรับสื่อบล็อกในครั้งนี้อาจเป็นแค่ก้าวแรกบนเส้นทางเท่านั้น เหตุเพราะรูปแบบสื่อในยุคหน้าจะไม่ใช่ ผู้ส่งสารกำหนดตัวผู้รับสารอีกต่อไป หากแต่ตัวผู้รับและพฤติกรรมความต้องการของผู้รับสารเองที่จะเป็นตัวกำหนดสื่อ คอนเทนต์ รูปแบบและการนำเสนอ

ถ้าเรานิยามหนังสือพิมพ์ในมุมมองการตลาดว่าคือแบรนด์เก่า  คราวนี้ก็น่าจับตาว่า แบรนด์เก่าที่ปรับตัวครั้งใหญ่ในคราวนี้จะพลิกเกมอย่างไรเพื่อรับมือกับแบรนด์ใหม่ ๆ สื่อเฉพาะทางสไตล์นิวมีเดียที่ทยอยเข้ามาท้าทายอย่างไม่หยุดยั้งด้วยเป้าหมายที่จะชิงผู้อ่านออกไปทีละกลุ่ม

ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดกำลังเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่ค่ายสิ่พพิมพ์ทั้งหมดกำลังมองหาโมเดลรายได้ใหม่ที่หนีไปให้พ้นจากการขายสื่อและโฆษณากระดาษ!

ใครจะรอดไม่รอดเดี๋ยวก็รู้



+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ cx]

 ใครที่คิดว่าเรื่องราว ข้อมูลการเดินทางที่เขียนที่นี่โอเค น่าสนใจ ฝาก share บอกต่อเพื่อนๆด้วยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามนะครับ เพราะเดินทางบ่อย คงมาตอบได้ไม่ทันใจ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ