วันพุธ, ตุลาคม 17, 2555

วิธีอ่านไกด์บุ๊คโลนลี่แพลเน็ต Lonely Planet (ตอน หาที่พัก)




โดย มารพิณ
ไป เฟซบุ๊ค   www.facebook.com/marnpinbook
ไป หน้ารวมข้อมูลเที่ยวนอก-แบคแพค

เวลาเดินทางเที่ยวเองเมืองนอก ไม่ว่าจะ backpack หรือใช้กระเป๋าลากแบบอิสระเที่ยวเอง ข้อมูลในหนังสือไกด์บุ๊คที่ดีที่สุดจะเป็นภาษาอังกฤษ เพราะเป็นภาษาที่แพร่หลายทั่วโลก   เนื้อหาที่มีในไกด์บุ๊คภาษาไทยยากที่จะสู้ได้

ดังนั้นเราจำเป็นต้องอ่านภาษาอังกฤษครับ แต่ขอบอกว่าไม่ยากอย่างที่คิดเลย เพราะจริงๆ  แล้วใช้ความสามารถทางภาษาอังกฤษแค่จึ๋งเดียว น้อยนิดมาก ดังนั้นเห็นคู่มือ Lonely Planet  เล่มโตเท่าควายก็ไม่ต้องไปตกอกตกใจ  เดี่ยวผมจะอธิบายง่ายๆ  ว่าทำยังไง 


ในมือซ้ายของคนเสื้อแดงคือ โลนลี่ฉบับเนปาล
+ข้อมูลที่พักในแต่ละเมือง

ผมยกเรื่องข้อมูลที่พักมาพูดกันให้ละเอียดหน่อย เพราะว่านี่ละครับคือข้อมูลที่สำคัญที่สุดในหนังสือไกด์บุ๊คสำหรับแบ็คแพ็คเกอร์ และไอ้เจ้า Lonely Planet เนี้ยมันมีดี มีจุดขายกันก็ตรงนี้นี่เอง

พอเรามีที่พักแล้วหรือรู้คร่าวๆ ว่าจะไปพักแถวไหน คราวนี้ความมั่นใจมาขึ้นเยอะเลย ขอบอก

หัวข้อที่พักในโลนลี่ฯ จะใช้คำว่า Sleeping (ถ้าใครมีเล่มที่พิมพ์เมื่อหลายปีก่อนจะใช้คำว่า Place to Stay) ในแต่ละที่ก็จะแบ่งย่อยออกเป็น Budget(ประหยัด) Midrange(ปานกลาง) และ Top End(สูง)
  • Budget ก็คือที่พักราคาประหยัด พวกเกสต์เฮาส์ หรือโรงแรม
  • Midrange ก็คล้ายๆกันกับอันแรก แต่ราคาปานกลาง อาจเป็นว่าใหม่กว่า ทำเลดีกว่า มีลิฟท์ ทำให้อัพราคาขึ้นไปได้
  • Top End ก็คือที่พักราคาสูง โดยมากเราแบ็คแพ็คเกอร์ไม่นิยมเลือกพวกนี้หรอกครับ

ทีนี้ในแต่ละหัวข้อ ก็จะมีรายชื่อโรงแรมพร้อมคำอธิบายตามมา โดยมากก็มีแห่งละหนึ่งย่อหน้า ดัง
ตัวอย่างข้างล่างนี้ ซึ่งผมสมมติชื่อโรงแรม และสร้างรายละเอียดต่างๆ ขึ้นมาเอง

อ้อ....ภาษาอังกฤษที่ใช้ตั้งชื่อที่พักจะเป็น 
Guest House  แปลว่า เกสต์ เฮาส์
 Inn  แปลว่า โรงแรมเล็กๆ 
Hotel  แปลว่า โรงแรม  

  ในประเทศอื่นเขาก็ตั้งกันมั่วเหมือนบ้านเรานั่นล่ะ เราดูจากชื่อจะไม่รู้เลยว่ามันเป็นแค่ตึกแถวสามชั้น หรือว่าบ้านหลังใหญ่มาซอยเป็นห้อง หรือว่าเป็นโรงแรมขนาดย่อมๆ จริงๆ

ตัวอย่างแรก 
มาดูตัวอย่างสมมุติ ที่ผมสร้างเลียนแบบการเขียนในโลนลี่แพลเน็ตภาษาฝรั่ง 

Buku Inn(Map p177; Tel 222 666; buku@bahasa.com; 444 Barak St; dm US 5, s/d with bathroom US 10/15; พัดลม) This inn has several new and clean rooms.The cheapest room is not more than a concrete hole with a small window-be sure to ask for a new room.

ย่อหน้าข้างบนนี้บอกอะไรเรามั่ง ยังไม่ต้องดูนะครับว่าเขาบรรยายว่าที่พักแห่งนี้ดีร้ายยังไง เราดูเฉพาะที่หัวก็พอ

ไกด์บุ๊คจะขึ้นหัวด้วยชื่อที่พัก ตามมาในวงเล็บคือรายละเอียด ซึ่งก็มีบอกว่า Map p177 ซึ่งก็คือ อยู่ในแผนที่หน้า 177 ของไกด์บุ๊คเล่มนี้ เพื่อเราจะได้เปิดดูได้ว่ามันอยู่ตรงไหนกันแน่ 

 ตามมาด้วยเบอร์โทร เบอร์อีเมล และที่อยู่ ซึ่งก็จะให้แค่เลขที่กับถนนมา คือเลขที่ 444 ถนนบารัก ตัวย่อ St  แปลว่าหมายถึง Street หรือถนนครับ

ท่อนสุดท้ายเขาจะบอกว่าที่นี่มีห้องแบบไหนบ้างโดยใช้ตัวย่อว่า dm US 5, s/d with bathroom US 10/15    คำว่า 
  • dm  แปลว่า dormitory หรือห้องแบบหอพักที่แชร์กันอยู่หลายคน
  • s แปลว่า single หมายถึง ห้องเตียงเดี่ยว 
  • d ก็คือ double แปลว่า ห้องที่นอนสองคน นั่นเอง

ความหมายโดยสรุปก็คือ ห้องพักแบบหอพัก ราคา 5 ดอลล์ต่อคน ห้องพักคนเดียวราคา 10 ดอลล์ และห้องพักแบบสองคนราคา 15 ดอลล์

ตัวอย่างที่สอง
คราวนี้มาดูอีกตัวอย่างกันบ้าง เช่นเคยครับ อย่าเพิ่งไปสนใจว่า เขาบรรยายรายละเอียดเกสต์เฮาส์แห่งนี้ยังไงบ้าง

Kimmoke Guest House (Map p177; Tel 243 674; Kimmoketheguesthouse@kiku.com; 423 Barak St; s/d US 7/12; พัดลม) The newly opened Kimmoke is another high-valued option.All the room have air-con and the staff is helpful and friendly.


ก็เหมือนเดิมล่ะครับ ก่อนอื่นเราต้องแยกน้ำกับเนื้อออกจากกันก่อน ข้อมูลที่จำเป็นและต้องการของเราคือ ชื่อเกสต์เฮาส์ ที่ตั้งว่าอยู่ตรงไหน ราคาห้องต่อคืน และเบอร์โทรศัพท์ นี่คือส่วนเนื้อๆ ที่เป็นประโยชน์กับนักเดินทางอย่างเราในด้านข้อมูล

จริงอยู่ว่าฝรั่งคนเขียนมันอาจอธิบายต่ออย่างเมามันส์ว่า ที่นั่นอยู่ดียังไง สบายมั้ย เสียงดังหรือป่ะ เจ้าของเฟรนด์ลี่หรือว่าดุ อะไรแบบนี้ แต่อันนี้ก็ถือว่าเป็น “น้ำ”แล้วล่ะครับ คือแบบว่ารู้ไว้ก็ดี แต่ถ้าไม่รู้ก็ไม่เป็นไร เพราะเวลาเราไปถึงที่ตรงนั้น จะพักโรงแรมหรือเกสต์เฮาส์ไหนก็ต้องขอดูสภาพห้อง ก่อนตัดสินใจพักอยู่ดี

เราแยกรายละเอียดสำคัญออกมาได้ดังนี้

ชื่อ: Kimmoke Guest House
แผนที่หน้า: Map p177
เบอร์โทร: Tel 243 674
เบอร์เมล: Kimmoketheguesthouse@kiku.com
ที่อยู่: 423 Barak St
ห้องพัก: s/d US 7/12

จะเห็นว่าเปิดแผนที่หน้าเดียวกับที่ Buku Inn แสดงว่าอยู่ไม่ไกลกัน พอเราดูที่อยู่ก็ถนนเดียวกันกับแห่งแรก ที่นี่เขาไม่ได้ระบุมาว่ามีห้องแบบหอพัก (หรือ d  -dorm) ก็แสดงว่าไม่มีที่พักแบบนั้น แต่มีห้องเดี่ยวราคาคืนละ 7 ดอลล์ ห้องนอนสองคนราคา 12 ดอลล์ ตามลำดับ

ตัวอย่างที่สาม

เอาตัวอย่างอื่นอีก คราวนี้ผมไม่ยกรายละเอียดมาให้เสียเวลาแล้ว เอาแต่หัวล้วนๆ เลย

Sodiba Summer Palace Hotel (Map p200; Tel 211 889; 233 Kokore Rd; r US 20-35; )

Balaya Hotel (Map p200; Tel 241 851; 243 Kokore Rd; s US 20-35 ,d US 20-35; )

ที่พักทั้งสองแห่งด้านบนนี้ใช้หลักการดูข้อมูลเดียวกัน ซึ่งก็อธิบายไปแล้ว มีต่างอยู่นิดตรงที่ Sodiba Summer Palace Hotel นั้น เขาใช้ตัว r ที่หมายถึง room หรือ ห้อง เฉยๆ ไม่ได้แยกออกมาเป็น s หรือ d แต่อย่างใด แต่ตรงราคาบอกว่าอยู่ระหว่าง 20-35 ดอลลาร์แสดงว่า ห้องมีหลายแบบ ราคาก็ต่างกัน เราก็ต้องไปเลือกดูเอาเอง

ส่วนข้อมูลของ Balaya Hotel นั้นใช้ว่า s US 20-35 ,d US 20-35 สังเกตว่าเขาใช้ s ที่หมายถึงห้องเดี่ยว และ d คือห้องนอนสองคน ซึ่งเราทราบตรงนี้ไปแล้ว แต่ไอ้ราคาข้างหลังนี่มีตั้งแต่ 20-35 ดอลล์ แสดงว่าสภาพห้องแตกต่างกัน ราคาก็ย่อมต่างกัน


เห็นมั้ยครับ รู้ศัพท์ฝรั่งแค่ไม่กี่ตัวเราก็รู้ข้อมูลที่พักแล้ว เวลาเราออกทริปไปต่างแดน พอเรามีข้อมูลที่พักแล้วก็สบายใจขึ้นเยอะ เวลาไปหาข้อมูลเมืองอื่นของประเทศที่เราไปก็เจอไอ้คำพวกนี้อีก เรียนรู้ทีเดียวใช้งานได้ทุกเมือง (และทุกประเทศ) เพราะว่าหนังสือโลนลี่เนี่ย เขาจะใช้แบบฟอร์มเหมือนกันในทุกเล่ม

อย่างแรกเราก็เปิดหาชื่อเมืองที่เราไป แล้วดูที่พัก(Sleeping) ตามมาด้วยประเภทความถูกแพง(Budget-Mid range –Top End) จากนั้นก็ดูชื่อที่พัก แล้วข้อมูลราคา เท่านี้เราก็พอตัดสินใจคร่าวๆ ได้ว่าจะไปพักที่ไหน เรารู้ว่าอยู่ไหนแผนที่หน้าไหน บอกแท็กซี่ให้ไปตรงไหนได้


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ cx]

 ใครที่คิดว่าเรื่องราว ข้อมูลการเดินทางที่เขียนที่นี่โอเค น่าสนใจ ฝาก share บอกต่อเพื่อนๆด้วยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามนะครับ เพราะเดินทางบ่อย คงมาตอบได้ไม่ทันใจ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ