วันพุธ, ตุลาคม 24, 2555

ข้อมูลอัปเดตที่สุดคือคำบอกเล่าของเพื่อนนักเดินทาง


โดย มารพิณ
ไป เฟซบุ๊ค   www.facebook.com/marnpinbook
ไป หน้ารวมข้อมูลเที่ยวนอก-แบคแพค


เดิมทีเมื่อยี่สิบ-สามสิบปีก่อน  หรือย้อนไปที่ 4-50 ปีก่อนโน่นเลย  ขอบอกว่า  นักเดินทางอิสระ และเบ็คแพ็คเกอร์เป็นพวกแสวงหาหรือออกจะฮิบปี้สไตล์บุปผาชนเลยด้วยซ้ำ พวกนี่ล่ะครับเป็นกลุ่มแรกๆ ที่บุกเบิกเส้นทางโบกรถข้ามทวีปจากยุโรปมาอินเดียและเนปาล อย่าว่าแต่ข้าวของติดตัวเลยครับ เป้หลังก็ยังแทบไม่มีกันเลยด้วยซ้ำ ถ้าใครสนใจบรรยากาศในช่วงนั้นต้องไปหาอ่าน “ถนนไปสู่ก้อนเมฆ” ของ ธัญญา ผลอนันต์ ดู เป็นหนึ่งในคนไทยที่ร่วมบุกเบิกการโบกรถจากยุโรปมาเนปาล

ต่อมาก็เริ่มประยุกต์เอาเป้หลัง ของพวกแค้มป์ปิ้งเดินป่ามาใช้ เปลี่ยนรูปแบบกันเรื่อยมา จนมีเป้และอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับแบ็คแพ็คกันโดยเฉพาะมากมาย

ส่วนข้อมูลเดินทางน่ะม่มีไกด์บุ๊ค หรือเปิดเว็บดูข้อมูลกันได้เหมือนสมัยนี้หรอกครับ  ต้องใช้เดาทาง ถามทาง ฟังคำบอกเล่าของเส้นทางกันทั้งนั้น ซึ่งเป็นวิธีเดินทางเก่าแก่ของมนุษย์และนักผจญภัยมานานหลายพันปี

ดังนั้นอย่ามองขจ้ามการถามข้อมูลเส้นทางการเดินทางจากเพื่อนนักเดินทางครับ โดยเฉพาะคนที่เดินทางสวนกัน เราจะไปที่นั่น เขามาจากตรงนั้นพอดี แบบนี้แชร์ข้อมูลกันได้ครับ

ถามเพื่อนนักเดินทาง

อย่าให้ข้อมูลจำกัดอยู่แต่ที่เราอ่านมา  แผนที่เราวางไว้ดิบดีจากเมืองไทยอาจพังลงทันทีที่เราเดินทางถึงประเทศนั้นแล้วเจอเข้ากับข้อมูลใหม่ สถานการณ์ใหม่  เคล็ดลับก็ต้องอยู่กับการพลิกแพลงหาข้อมูลสดจากในพื้นที่  นั่นคือ ถามไถ่กับผู้คนบนเส้นทาง

เป็นธรรมเนียมในหมู่แบ็คแพ็คเกอร์ที่จะถามข้อมูลระหว่างกัน  เพราะแต่ละคนมีเส้นการเดินทางที่ต่างกัน  เมื่อโอกาสเหมาะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลล่าสุดได้เสมอ    ถ้ารู้ว่าใครเพิ่งมาจากเมืองที่เรากำลังจะไปอาจขอถามข้อมูลเรื่องที่พักการเดินทางได้  ไม่ต้องกลัวว่าภาษาอังกฤษหนูไม่ดี  ผมพูดฝรั่งไม่ได้   จริงๆ  แล้วฝรั่งแบ็คแพ็คเกอร์ส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาติที่พูดภาษาอังกฤษเลยด้วยซ้ำ  ไม่ต้องไปกลัวฝรั่งกินตับ รับรองว่า snake fish fish  ไปรู้เรื่องกันแน่


ตัวอย่างเช่น  ถ้าเราไม่มีตังค์  ลองถามฝรั่งที่เดินไปเดินมาในย่านเกสต์เฮาสดูว่า  แถวนี้มีอะไรกินถูกๆ   หรือมีที่พักที่ไม่แพงมั้ย   ไม่แน่ว่าเราอาจจะแปลกใจเองด้วยซ้ำที่แบ็คแพ็คเกอร์บางคนรู้ภาษาไทยง่ายๆ  เพราะเคยมาเที่ยวเมืองไทยหลายเดือน  หรือบางรายที่พอรู้ว่าเรามาจากเมืองไทย เขาจะขอถามข้อมูลจากเรา เพราะกำลังจะไปเที่ยวเมืองไทยเป็นประเทศถัดไป

แนะต่ออีกนิดว่า  เวลาเดินทางต่างประเทศ อย่านินทาหรือพูดว่าใครเป็นภาษาไทย  ในโลกใบนี้มีคนรู้ภาษาไทยมากกว่าที่เราคิดเสมอ

 ผมเจอมามากมายทั้งฝรั่งเว้าลาวหรือแหลงใต้ได้    คนเวียดที่ไปเรียนราชภัฎแถวอีสานจนอ่านออกเขียนได้  ลุงแก่ในฮานอยที่เป็นคนไทยแล้วตั้งรกรากที่นั่นไม่ได้กลับมา  สาวคุนหมิงที่จบเอกภาษาไทยจากมหาลัยเมืองจีน  หนุ่มยิวที่เคยมาเที่ยวเมืองไทยสิบกว่าครั้ง  หรือคนข้างห้องที่เนปาลซึ่งอยู่ติดกันมาสามวัน เพิ่งมารู้ว่า  อ้าวคนไทยนี่หว่า  นึกว่าญี่ปุ่น



รวมลิงก์หนังสือมารพิณ
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ cx]

 ใครที่คิดว่าเรื่องราว ข้อมูลการเดินทางที่เขียนที่นี่โอเค น่าสนใจ ฝาก share บอกต่อเพื่อนๆด้วยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามนะครับ เพราะเดินทางบ่อย คงมาตอบได้ไม่ทันใจ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ