วันอาทิตย์, ตุลาคม 14, 2555

อ่านไกด์บุ๊คฝรั่งไม่ยากอย่างที่คิด

ไกด์บุ๊ค Lonely Planet India หนึ่งในคู่มือเอาชีวิตรอดต่างแดนที่ช่วยนักเดินทางแบกเป้มานักต่อนัก

โดย มารพิณ
ไป เฟซบุ๊ค   www.facebook.com/marnpinbook
ไป หน้ารวมข้อมูลเที่ยวนอก-แบคแพค


อ่านไกด์บุ๊คฝรั่งไม่ยากอย่างที่คิด

ก่อนอื่น ลืมภาษาอังกฤษที่เขาสอนในโรงเรียนกันให้หมดนะครับ   เมืองไทยสอนกันแต่แกรมมาร์หรือไวยากรณ์  เรียนกันไปเท่าไหร่ก็ใช้ภาษาอังกฤษไม่ได้ซักที เพราะไม่เคยสอนศัพท์  ขอบอกตามตรงว่าถ้าไม่รู้ศัพท์ไม่ว่าภาษาไหนเราก็ไม่มีวันรู้เรื่องหรอกครับ

ช่วงสองปีหลังเจอนักท่องเที่ยวคนไทยเที่ยวโดยใช้ Lonely Planet  มากขึ้น  เคยคุยกับหลายคนบนเส้นทางตามประเทศต่างๆ  ส่วนใหญ่บอกว่า  แรกๆ  ก็กลัวเหมือนกันเพราะดูหนา แต่พอเริ่มลองใช้ก็ติดใจ  ข้อมูลเขาดีจริงๆ  และภาษาอังกฤษก็ไม่ยาก เกินกว่าจะแกะ

แต่อันที่จริงถ้ามีพื้นฐานภาษาอังกฤษมาบ้างก็น่าจะพออ่านต่อได้นะครับ  เพราะไกด์บุ๊คพวกนี้อันที่จริงเขาก็ไม่ใช้คำที่ยาก หรือสำนวนอะไรที่ยาก  เนื่องจากเน้นให้คนทั่วไปอ่านได้  ลองให้เวลากับมันซักนิดนึงครับ เราจะค่อยๆ แกะได้

แต่ถึงไม่มี หรือไม่มั่นใจในภาษาอังกฤษของตัวเองก็ไม่เป็นไร ล้อมวงกันเข้ามาครับ เด๋วผมจะค่อยๆ  อธิบายให้ฟังว่า  เราต้องเจอศัพท์อะไรบ้าง หมายความว่าอย่างไร  รับรองรู้ศัพท์ไม่กี่ตัวก็พอแกะความหมายออกครับ


เทคนิคการอ่านดาวเหงา( Lonely Planet)

ถึงแต่ละเล่มจะหนาและ หนัก  แต่ลองคิดดูว่าทำไมแบ็คแพ็คเกอร์ทั่วโลกที่ปกติแล้วพยายามทำให้เป้ตัวเองเบา สุดชีวิตถึงได้ยอมทนแบกไกด์บุ๊กพวกนี้ไปไหนมาไหนตลอดเวลา ?   คำตอบง่ายๆ  ก็คือ มันเวิร์กครับ  ม่ายงั้นจะแบกไปทำไมให้เมื่อย

บทนี้ผมแยกเอา ไว้ท้ายเล่ม แต่เป็นหนึ่งในบทที่สำคัญที่สุดถ้าเราจะมุ่งหน้าไปในเส้นทางแบ็คแพ็คเกอร์   ก็คือเราต้องอ่านไกด์บุ๊คภาษาอังกฤษพอได้  ก็จะเข้าถึงข้อมูลต่างๆ  ที่มีหมด(ในโลกใบนี้)

อาจสงสัยว่าเล่มตั้งหนา ภาษาอังกฤษอีกต่างหาก  แล้วจะอ่านรู้เรื่องได้ยังไงกันเนี่ย   เดี๋ยวก่อนครับ  ที่มันเล่มหนาเท่าควายแบบนั้นก็เพราะเขารวบรวมข้อมูลทุกอย่างเอาไว้ให้ครบ  มีทั้งเรื่องจำเป็นและไม่จำเป็น 

ซึ่งข้อมูลจริงๆ  ที่เราต้องดูจากไกด์บุ๊คดาวเหงานี้ก็คือ
  • จุดเข้าออกประเทศนั้น   เข้าได้ที่ไหนบ้าง  อย่างไร 
  • ข้อมูลที่พักในแต่ละเมือง 
  • ค่าเข้าชมที่เที่ยวสำคัญๆ  เวลาเปิดปิด 
  • ข้อมูลการเดินทางระหว่างเมือง
เพราะ ข้อมูลตรงนี้เราจะเอาไปวางแผนการเดินทาง  และคำนวณค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ได้  ส่วนที่เหลือนั้น ไม่ต้องไปอ่านก็ได้  ผมเองถึงอ่านภาษาอังกฤษได้แต่ก็ไม่ได้อ่านหมดเล่ม บอกตามตรงบางบทก็ไม่เคยดูเลยด้วยซ้ำ  ดูแค่สามสี่เรื่องอย่างที่ว่านี่ล่ะ

อ้อ....ผมหมายเหตุไว้นิดนึงว่า   เมื่อประมาณสองปีที่ผ่านมาไกด์บุ๊คดาวเหงาได้มีการปรับโฉมการจัดเรียง เนื้อหาข้างในใหม่   มีการใช้คำภาษาอังกฤษบางคำใหม่  เช่นหัวข้อที่พักจะใช้คำว่า  Sleeping  แทนคำว่า  Place to Stay ที่ใช้กันในเล่มเก่าๆ  เป็นต้น  ดังนั้น ถ้าเจอการใช้หัวข้อไม่เหมือนกันอย่าได้งงครับ 

ใครที่สนใจรูปประโยคภาษาอังกฤษ  ศัพท์ต่างๆ ที่ใช้ในการเดินทางไปเที่ยวนอก  แนะ
ว่า ให้ไปอ่านอีกเล่มที่ผมเขียนออกมาเมื่อตุลา ปี 2007  คือ  “Snake Fish Fish  ภาษาอังกฤษเที่ยวนอก”  ครับ  เล่มนั้นจะว่าด้วยภาษาอังกฤษล้วนๆ   ส่วนเล่มนี้เน้นที่เคล็ดลับการเดินทาง  สาเหตุที่ไม่รวมสองเล่มนี้เข้าด้วยกันก็เพราะว่า มันจะงงกัน และเล่มมันจะหนาเกินไป แยกภาษาอังกฤษออกไปต่างหากดีกว่า

เดี๋ยวผมจะมาแนะนำต่อเป็นตอนต่อไปว่าอ่านไกด์บุ๊คภาษา English  จะต้องทำยังไงบ้าง รับรองไม่ยากอย่างที่คิดครับ

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ cx]

 ใคร ที่คิดว่าเรื่องราว ข้อมูลการเดินทางที่เขียนที่นี่โอเค น่าสนใจ ฝาก share บอกต่อเพื่อนๆด้วยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามนะครับ เพราะเดินทางบ่อย คงมาตอบได้ไม่ทันใจ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ