วันอังคาร, พฤศจิกายน 27, 2555

เจาะลึกวิชาเชลฟ์ ดิสเพลย์ ตั้งของขาย



คอลัมน์พิเศษ


เขียนโดย เซียวอี้ซาน
เรียบเรียงคำพูด-ถ่ายทอด โดย  มารพิณ


เจาะลึกวิชาเชลฟ์ ดิสเพลย์ ตั้งของขาย

ไม่ว่าจะทำร้านอะไร แบบไหน ขอให้เป็นขายของ จะต้องมีเรื่องของ “ชั้นวางของ” หรือที่นิยมเรียกตามภาษาฝรั่งว่า “เชลฟ์” (Shelf) มาเอี่ยวด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรื่องนี้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เรียนรู้ได้ไม่รู้จบ

โดยมาก จะแบ่งง่ายๆ ออกสามแบบ ดังนี้
  1. ตัวชั้น หรือ เชลฟ์
  2. ตัวหัวชั้น หรือ หัวเชลฟ์ ที่ปิดหัวท้ายของชั้น
  3. ชั้นติดฝา ก็คือชั้นที่อยู่ติดฝา ซึ่งสามารถสูงกว่าชั้นแบบทั่วไปได้


โดยมากชั้นธรรมดาก็ไว้วางของทั่วไป ส่วนหัวเชลฟ์มักเอาไว้วางสินค้าใหม่ หรือทำโปรโมชั่น หรือสินค้าที่กำลังลดราคา หรือมีกิจกรรมพิเศษชิงโชค เรียกว่าเป็นการวางเพื่อสร้างจุดเด่น ว่างั้นเถอะ

ประเภทของชั้น ขนาด ความสูง เรื่องพวกนี้ต้องคิดกันให้ละเอียด ตั้งแต่ก่อนเปิดร้านของตัวเอง รู้ชัดว่าเราจะขายอะไร รู้โปรดักต์แล้วก็จะรู้พื้นที่จัดวางต่อไป นึกภาพในหัวให้ชัดตลอดว่า สินค้าของเราจะวางที่หัวเชลฟ์ยังไง ในชั้นแบบไหน หรือจะดูเด่นในชั้นข้างฝายังไงกันแน่

งานนี้ ขอทิ้งการบ้านไว้ว่า ให้ไปแอบเรียนวิชาจากร้านแบบเดียวที่คุณอยากจะเปิด เลือกเอาร้านที่ประสบความสำเร็จ ขายดี แล้วไปดูงานว่าเขาใช้ ชั้นวางแบบไหน จัดวางยังไง และจัดรูปแบบหัวเชลฟ์ยังไง ยิ่งดูมากร้านจะยิ่งรู้ทาง รู้แนว เราเอาไปประยุกต์ใช้กับร้านเราเองได้

ขีดจำกัดของเรื่องราวทั้งหมด อยู่ที่เพดานกับพื้น ในระหว่างเพดานกับพื้นเราคิดจะจัดวางอะไร ตรงไหน ให้เด่นที่สุด ดูแลจัดการได้ง่ายและสะดวกที่สุด

ทำร้านต้องหัดสังเกตรายละเอียดเสมอ ถ้าขายของประเภทอื่นก็จะมีรูปแบบของดิสเพลย์ และชั้นที่ต่างออกไปเช่น ร้านขายเสื้อรูปแบบชั้นอาจเป็นแถวแขวนเสื้อผ้า จุดเด่นอาจไปอยู่ที่รูปแบบหุ่นโชว์ ที่เลือกวางได้หลายจุดในร้าน พวกนี้ต้องศึกษากันให้ละเอียด เช่น หุ่นแบบเสื้อแบบมีหัว ไม่มีหัวดีเสียต่างกันยังไง หุ่นไม้ หุ่นปูน หุ่นพลาสติกล่ะ หรือไปเห็นเกาหลีมาเขาใช้แบบนี้ เฮ้ย สุดยอดเลย ทำไมเราไม่เอามาใช้บ้างล่ะ

หรือถ้าเป็นร้านอาหารก็ต้องดูเรื่องเมนู และดิสเพลย์แบบตั้งโต๊ะ อะไรแบบนี้

เรื่องของระดับ

ที่สำคัญกับเรื่องชั้นวางสินค้ามากที่สุดคือ เรื่องของ “ระดับ” ครับผม ความสูง-ต่ำ ที่แตกต่างกันมีผลต่อการเลือกซื้อของในร้านเรา และเรื่องนี้มีผลโดยตรงกับระดับความสูงของลูกค้าด้วย เพราะอย่างแรกที่จะต้องให้ความสำคัญคือ “ระดับสายตาของลูกค้า” ครับผม

คนเรามักจะทำอะไรที่ระดับสายตา เพราะดวงตาทั้งคู่คือช่องทางที่มนุษย์เราใช้มองสิ่งต่างๆ รอบตัว ตัวอย่างเช่น คนเราถ้าให้เขียนอะไรที่ข้างฝา ก็มักจะเขียนลงไปที่ระดับสายตาเสมอ บางคนแม้แต่เวลาที่เขียนหนังสือลงบนกระดาษยังก้มหน้าลงไปแนบแทบจะถึงพื้นโต๊ะ
สมัยก่อนครูที่โรงเรียนเก่าผม เคยจับคนเขียนด่าพ่อแกได้ เพราะเรื่องระดับสายตานี่ล่ะ แกจับเด็กทั้งชั้นมาเรียงแถวเทียบกับข้อความบนกำแพง บังเอิญว่าหมอนั่นมันสูงกว่าเพื่อนนักเรียนคนอื่นสักหน่อย พอตามเทียบลายมือตรงกันก็โดนเฆี่ยนเรียบร้อยไป


ขนาดของชั้นในร้านขึ้นกับความสูงเฉลี่ยของคนทั่วไป ผู้ชายสูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย เช่น ค่าเฉลี่ยความสูงของผู้ชายไทยอาจอยู่ระหว่าง 165-175 ซม. ในขณะที่ผู้หญิงอาจขยับต่ำลงมาอีกช่วงนึงคือ 155-165 ซม. คาดเคลื่อนจากนี้ไม่เกิน 5 ซม. อันนี้ต้องทำความเข้าใจนิดนึงว่าเป็นการประมาณการโดยคร่าวๆ นะครับ 

ระดับสายตา จะต่ำกว่าความสูงจริงของแต่ละคนเล็กน้อย คนเรารู้สึกดีที่สุดกับระดับสายตาตัวเราเอง จะดูอะไรสบายตา เห็นชัดเจน รู้มิติรูปร่างของสิ่งของดีที่สุดที่ในระดับนี้ นอกจากนี้ คนชอบจะหยิบของที่ระดับสายตา หรือสูงกว่าสายตาตัวเองเล็กน้อย โดยไหล่ คือระดับมือและคนเรามีวิธีหยิบของสองแบบคือ หยิบสบายๆ ที่ศอกยังงอไม่ได้ยืดแขน กับเอื้อมหยิบที่เหยียดแขนสุด

เอื้อมหยิบกันแบบไหน ให้ลองหันหน้ามองกระจกบานใหญ่ ยกมือขึ้นไปจับกระจกในระดับต่างๆ กัน เราจะเห็นภาพ ตัวเรา เหมือนภาพลูกค้าที่กำลังหยิบของได้อย่างชัดเจน ถ้าอยากเห็นภาพชั้นวางคร่าวๆ เอาก้อนสบู่มาขีดกระจกเป็นเส้น เราจะเห็นรูปของชั้น และจังหวะทิศทางการมองการหยิบสินค้า ของคนเราในภาพรวมอย่างชัดเจน


สำหรับร้านค้าทั่วไป ชั้นวางที่วางอยู่กลางร้าน มักจะไม่สูงเกินระดับสายตาของความสูงเฉลี่ยมากนัก เพราะสูงมากไปจะทำให้ร้านดูทึบ ตามาด้วยปัญหาการรักษาความปลอดภัยของหาย และสูงมากไปจะเกิดความรู้สึกกดดันลูกค้า ว่าอึดอัดไม่อยากเข้าไป พอเห็นแบบนี้แล้ว หลายคนคงจับประเด็นออกแล้วว่า ร้านที่มีลูกค้าเน้นเพศหญิง ชั้นวางกลางร้านอาจไม่สูงเท่า ร้านที่ขายของสองเพศ

ส่วนร้านที่ขายของทั้งสองเพศ และจำเป็นต้องวางของที่เน้นคนซื้อคนละเพศรวมกันในชั้นวางตู้เดียวกันก็มีวิธีวางสินค้าที่จะขายโดนเราสามารถแยกเน้นที่ระดับความสูงที่ต่างกันระหว่างหญิงและชาย โดยให้ของที่เน้นขายผู้ชายสูงกว่าของที่เน้นขายผู้หญิงไปชั้นนึง เพราะระดับสายตาผู้ชายสูงกว่ายังไงละครับ


จะเห็นว่า บางห้างวางหมากเล่นงานผู้ปกครองที่พาลูกมาเที่ยวห้างด้วยการวางของเล่น หรือขนม ไว้ที่ชั้นระดับต่ำ ที่อยู่สูงประมาณขนาดเอวผู้ใหญ่ ความหมายก็คือ อยู่ในระดับสายตา และเด็กหยิบคว้าได้สบาย คราวนี้ก็เป็นเหตุให้เสียสตางค์กันต่อไป เพราะพอเด็กคว้าของเล่นหรือขนมไปแล้วจะวางลงก็ไม่ใช่ง่าย โดยมากเราจะเจอแบบนี้แถวๆ เคาน์เตอร์จ่ายเงิน หรือแถวทางไปจ่ายเงิน


ที่เล่ามานี้คงจะพอเห็นภาพกันบ้างแล้ว นอกจากนี้ เราต้องดูการประยุกต์ใช้อื่นๆ ให้เข้ากับสถานการณ์ด้วย เช่นร้านที่มีต่างชาติเข้าเยอะตามเมืองท่องเที่ยว เราก็ต้องดูแลเรื่องชั้นให้เป็นไปตามค่าเฉลี่ยของฝรั่งที่สูงกว่าคนไทยพอสมควร ขณะเดียวกัน ขายของวัยรุ่น ขายของนักศึกษาที่เดี๋ยวนี้ตัวสูงใหญ่กว่ารุ่นพ่อแม่ (อย่างน้อยก็สูงกว่า 5-10 ซม.) แบบนี้ก็ต้องเพิ่มค่าเฉลี่ยเข้าไป


พอเข้าใจแบบนี้แล้ว การจัดเสริมแบบอื่นก็มีพลิกแพลงต่ออีกเช่น ชั้นล่างๆ ลงมาอาจวางของที่ไม่เด่นนัก เป็นพวกของจำเป็นที่ต้องใช้ ต้องซื้อ ต้องมี หรือเป็นสินค้าที่ขายเฉพาะกลุ่ม แบบนี้ถึงวางต่ำกว่าระดับสายตาลงมาก็ไม่เสียหายอะไร เพราะคนที่สนใจ หรือจะซื้อจริงๆ เขาหาได้อยู่แล้ว หรือถ้าต้อง สต๊อกสินค้าไว้ในพื้นที่ขายด้วย ให้สต๊อกอยู่ในเชลฟ์ล่างสุด หรือชั้นบนสุดที่สูงเกินมือเอื้อม แบบนี้ก็เอามาเติมได้สะดวกและไม่ไปแย่งพื้นที่ชั้นวางตรงระดับสายตาที่เป็นเหมือนไพร์มไทม์ หรือจุดเด่นที่สุดของเรา


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ cx]

 ใครที่คิดว่าเรื่องราว ข้อมูลการเดินทางที่เขียนที่นี่โอเค น่าสนใจ ฝาก share บอกต่อเพื่อนๆด้วยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามนะครับ เพราะเดินทางบ่อย คงมาตอบได้ไม่ทันใจ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ