วันจันทร์, พฤศจิกายน 26, 2555

ปัญหาขาดคนมีฝีมือ-กฏหมายเหล้าฆ่าร้านโชห่วย



เขียนโดย เซียวอี้ซาน
เรียบเรียงคำพูด-ถ่ายทอด โดย  มารพิณ


จุดจบโชห่วย

ผมโตมากับร้านโชห่วย คุณตาผมเคยมีร้านโชห่วยอยู่ต่างจังหวัด เข้าใจดีถึงความลำบากของธุรกิจแบบนี้ หลายคนบ่นว่าขายของชำ หรือทำโชห่วยปัญหาอยู่ที่กำไรหายาก เงินจม

ไอ้นั่นก็จริง แต่ว่าก็ว่าเถอะ ไอ้ที่ยากกว่าก็ตรงที่ โปรดักต์มีรายละเอียดเยอะ ทำนองว่า ซอสพริกยี่ห้อนี้ซื้อ 2 แถม 1 แต่ขวดที่แถมเป็นขวดเล็กวางอยู่ที่ชั้นหลังเก๊ะเก็บเงิน ส่วน ขนมหลอกเด็กยี่ห้อนั้นแถมสติ๊กเกอร์ดารา ไอ้สติ๊กเกอร์นั่นจะวางอยู่ในเก๊ะใต้กล่องถ่านไฟฉาย น้ำอัดลมถ้าเอาขวดไปด้วยคิดเพิ่มขวดละกี่บาท แต่ขวดอีกแบบที่อยู่ในตู้แช่เป็นขวดวันเวย์ขายทั้งขวดเลยไม่ต้องคืน แต่ถ้าใส่ถุงใส่น้ำแข็งคุณก็ต้องรู้วิธีเอาเชือกฟางมามัดถุงให้หิ้วได้ 

 ส่วนสบู่ตรานกแร้งเนี่ย ถ้าเอาซองเปล่ามาแลกด้วยจะได้ลดอีกตั้งสองบาทแน่ะ พอรับมาร้านเราต้องเก็บซองเปล่านี้เอาไว้แลกเป็นเงินคืนกับรถของเซลล์ที่จะแวะมาร้านทุกๆ วันที่ 18 ของเดือนตอนบ่าย

ยุ่งยากมั้ยล่ะ ละเอียดมั้ยล่ะ ... จุดตายของร้านโชห่วยคือ พนักงานร้านต้องเก่งมาก ถึงจะเอาอยู่มือได้ ดังนั้นเถ้าแก่ร้านโชห่วยเลยสืบทอดให้กับทายาทได้ยาก จะเทรนลูกจ้างก็ลำบาก

แต่ร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่เขาใช้บาร์โค้ดมาแทน  พนักงานไม่ต้องรู้อะไรมาก  ยกบาร์โค้ดส่องแล้วจิ้มไปก็จบเรื่อง แก้ปัญหาทักษะฝีมือไปได้แบบจบเรื่อง

กฏหมายเหล้าฆ่าร้านโชห่วย
ตอนหลังห้ามแยกซองบุหรี่ขาย ห้ามขายเหล้าเวลานั้นนี้ กฏหมายตรงนี้เร่งให้ร้านโชห่วยตายเร็วขึ้นเพราะตัดกำไรที่เหลือสองอย่างออกจากวงจร น่าตลกที่กฎหมายนี้ไม่ได้ลดเหล้าลดบุหรี่อย่างที่หวังกัน แต่มีผลทำให้ร้านโชห่วยเมืองไทยถึงจุดจบไวขึ้น


ซ้ำร้าย รสนิยมสาธารณะของผู้คนในสังคมเปลี่ยนไป กระชากโครงสร้างค้าขายแบบเดิมจนหมด ไม่มีที่จอดรถ ลูกค้าไม่มีทางเลือก ไม่มีสินค้าหลากหลายให้ดู ร้านเข้ายากออกยาก เบียดลังซีอิ้วคลุกฝุ่น แถมสองเดือนผ่านไป ไอ้ลังเวรกรรมอันนั้นก็วางแหมะอยู่ที่เดิม

เป็นปัญหาสต็อกของและอาการเสียดายที่เป็นงูกินหางไม่รู้จบสิ้น เทียบได้ว่า บริษัทกับร้านใหญ่ๆ มีปัญหาบริหารสต็อคหรือสินค้าคงคลัง แต่ร้านเล็กๆ มีปัญหาของเสียดาย เช่น ของแถมครีมอาบน้ำเมื่อสองปีก่อน หรือมี สินค้า “ได้มาถูกพิเศษ" แต่ลืมคิดไปว่ามันก็ "ขายยากพิเศษ" เหมือนกัน ของที่เคยขายดีสุดชีวิตเมื่อสามปีก่อน แต่ตอนนี้ไม่มี(สุนัข)ที่ไหนสนใจแล้ว แต่เสียดายไม่กล้าโล๊ะทิ้ง ให้ตายสิ!

ในทางกลับกัน ฝาร้านมอมๆ ที่ทาสีครั้งสุดท้ายเมื่อเกือบสิบปีก่อน กลับมีรูปรับปริญญาของลูกชายลูกสาวสุดเลิฟใส่กรอบหรูติดเรียงรายข้างฝา เชื่อมั้ยครับว่า ธุรกิจอื่นยังบ่นลูกหลานว่า ไม่มีคนไหนจะมาสืบทอดกิจการ แต่พอถึงเคสร้านโชห่วย ผมว่า มีน้อยร้านมากที่อยากให้ลูกหลานตัวเองมาทำต่อ

แล้วแบบนี้จะรอดยังไงกันละเนี่ย


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ cx]

 ใครที่คิดว่าเรื่องราว ข้อมูลการเดินทางที่เขียนที่นี่โอเค น่าสนใจ ฝาก share บอกต่อเพื่อนๆด้วยครับ ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามนะครับ เพราะเดินทางบ่อย คงมาตอบได้ไม่ทันใจ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ