วันอาทิตย์, มิถุนายน 27, 2553

ขนมปังโฮลวีตมาจากไหนฟะ.. กับศัพท์ bran และ cereal แปลว่าอะไร


โดย มารพิณ 

ต่อจากเมื่อวานครับ ใครยังไม่ได้อ่านก็ต้องไปอ่านตอนที่แล้วเสียก่อน

ขอบคุณมากที่แนะนำมาครับ จะเรียกว่า บล็อก หรือ ได ก็แล้วแต่ชื่อเรียกขานกันอย่าไปยึดติดกันเลยครับ ถ้าอยากจะเรียกก็เรียกกันได้สารพัด จะเรียกที่ผมเขียนว่า column คอลัมน์ ก็ได้ เพียงแต่ไม่ได้เขียนบนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารเท่านั้น เขียนของผมเองในอินเทอร์เน็ตมาสามสี่ปีแล้ว

ต่อจากเมื่อวานครับ บังเอิญเมื่อวานยาวไปก็เลยเถิดมาต่อเนื่องกันอีกซักวัน  จะไม่ย้อนกลับไปอ่านก็ได้ไม่ว่ากัน เพราะศัพท์ในบทความวันนี้มันก็ครบเครื่องในตัวอยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง เรียนกับผมไม่ซีเรียส ไม่มีสอบ

พวกอาหารซีเรียลนี่ ตอนหลังโดนคนวิจารณ์ว่าใส่น้ำตาล (sugar)เยอะ พวกที่ทำก็เลยเพิ่มสูตรอื่น ๆเช่น หันมาใส่ พวกเส้นใย เรียกว่า high-fibre หรือhigh-bran กัน คำว่า bran ก็คือ เปลือกนอกของธัญพืชที่มีส่วนแข็ง ๆ สีออกเป็นรำ เป้นอะไรไป ส่วนคำว่า fibre ในที่นี้ ก็คือใยอาหาร

ทีนี้ผมต้องทวนนิดนึงเด๋วจะงงกัน

cereal  ซี้ เหรี่ยล  คือ ธัญญพืช -- เช่น wheat ข้าวสาลี rice ข้าวเจ้าcorn หรือ maize ข้าวโพด barley ข้าวบาร์เลย์ oats ข้าวโอ๊ต ในเมกาเขาก็มี oatmeal ข้าวโอ๊ตไปต้มเละ ๆ เป็นอาหารเช้า

เมล็ดธัญพืชฝรั่งจะเรียก grains จริง ๆ ก็คือ grain คือเมล็ด แต่ปกติไม่มีใครพูดถึงเมล็ดข้าวแค่เม็ดเดียว ธรรมชาติของคำนี้เลยมี s เป็นปกติ

ในแต่ละ grainจะมีชิ้นส่วนหลายอย่าง เช่น bran คือ รำ germ คือจมูกข้าว พวกนี้แยกโดยการสี ที่โรงสีหรือที่ฝรั่งเรียกว่า mill ใช้เป็นเวิร์บก็คือ สี โม่ บด คำว่า wind-mill ก็คือโรงสีลม ถ้าใช้น้ำหมุนโม่ก็ water-mill

พวกชิ้นส่วนต่าง ๆ ของเมล็ดธัญญพืช เราเรียกรวมว่า whole grains นี่เป็นที่มาของคำว่าขนมปัง whole-wheat โฮลวีต นั่นก็คือ ขนมปังที่ทำมาจากแป้งสาลีที่ได้จากการโม่แป้งจากธัญพืชทั้งเมล็ดนั่นเองไม่ได้สีจนขาว whole-wheat flourไม่ได้แยกรำ bran กับจมูกข้าว wheat germ ออกมา ก็คือมีทั้งเส้นใยช่วยขับถ่าย และ มีความหอมและรสหวานของจมูกข้าวสาลีรวมอยู่ด้วย แต่อันที่จริงขนมปังโฮลหวีตที่ขายอยู่เขาก็ไม่ได้เอาทั้งเมล็ดจริง ๆ หรอก เพราะไม่งั้นเนื้อมันต้องหยาบกว่านี้ นี่ทำแบบเอาใจคนกิน เพราะพี่ไทยเรากินหนมปังแข็ง ๆ ไม่เป็น จริง ๆ แล้ว ขนมปังมันมีหลายอย่าง พวกฝรั่งมันก็กินแข็ง ๆ กันก็เยอะ คำว่า ขนมปังของไทยน่าจะมาจากคำว่า le pain แป็ง ที่หมายถึงขนมปังในภาษาฝรั่งเศส นั่นเอง พวกอังกฤษอเมริกันนี่เข้ามาบ้านเราในตอนหลัง แต่ฝรั่งเศสนี่มาตั้งแต่สมัยอยุธยาโน่นแล้ว

ทิ้งเอาไว้อีกคำคือ muesli  มูยส หลี่  ที่เอาพวกข้าวโอ๊ต ข้าวสาลีเป็นเกล็ด ใส่ผลไม้ สด แห้ง ถั่ว เมล็ดพืชอื่น ๆ กินกับนมสดๆ  จากเต้า หรือโยเกิร์ต คำนี้มาจากภาษาเยอรมัน โน่นแนะ  เพราะคิดค้นจากสวิสเยอรมันมา ผมชอบกินอันหลังนี่มากกว่า



 รวมลิงก์หนังสือมารพิณ
มีอะไรก็คอมเมนท์มาได้ นะครับ.... ใครมีความรู้เพิ่มเติมก็มาแชร์กัน ผมไม่ได้เก่งอะไรมากมาย ยังไงฝากบอกแนะนำลิงก์ของบล็อก feelthai.blogspot.com ต่อเพื่อนๆ ด้วย
แต่ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามภาษาอังกฤา หรือแก้ปัญหาการบ้านภาษาอังกฤษนะครับ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ
 (English for learners - blog)