วันอาทิตย์, มิถุนายน 27, 2553

หนังสามภาค - Trilogy และ trinity แปลว่าอะไร

โดย มารพิณ 




เมื่อวานพูดถึง prequel และ sequel ที่ใช้กับหนัง

วันนี้ก็เลยเอาอีกคำที่เกี่ยวกับหนัง มาฝาก คือ trilogy (ทรี๊ หล่อ จี่ ) ที่ชอบใช้กับหนังเหมือนกัน ที่หมายถึง 3 ภาค เรียงต่อกัน (ใช้กับหนังสือด้วยนะครับ โดยมากพวกนิยายไซไฟ แฟนตาซีจะมักเป็นแบบ 3 ภาคต่อกัน)
มีหนังไรบ้างที่ฝรั่งเขาเรียกเป็น Trilogy

Back to the Future
Terminator
Lord of the Rings
Godfather


รากศัพท์ คือ tri- ที่หมายถึง สาม อันนี้เป็นรากศัพท์เก่าแก่ของ อินโดยูโรเปียนนะครับ
อินโดยูโรเปียนคืออะไร คุณเรียนภาษาอังกฤษตามหลักสูตรมาจะมีครูน้อยคนมากที่บอกเรื่อง ภาษาอินโดยูโรเปียน

ล้อมวงเข้ามาฟังเรื่องที่เหมือนนิยาย หรือเรื่องเล่าข้างกองไฟกันดีกว่า....

เรื่องมันเริ่มจากอังกฤษเข้าไปยึดอินเดียเป็นของตัวเอง ส่งคนของตัวเข้าไปปกครอง แล้วก็มีคนอังกฤษอยู่ในอินเดียมากเข้า มีอีตาฝรั่งคนนึงแกไม่อยู่เฉยๆๆ น่ะสิ แกเที่ยวไปเรียนรู้ภาษาโบราณของอินเดีย อย่างสันสกฤต และ บาลี
ด้วยความว่าหมอนี่จบโรงเรียนชั้นดีมาจากแดนผู้ดี ไม่ใช่ฝรั่งขี้นกมาจากไหน เลยได้เรียนกรีก ลาติน มา

หมอนี่พบว่า รากคำ บาลี สันสกฤต กับ กรีก และลาติน มันเหมือนกันมากอย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนจนน่าตกใจ ก็เลยออกมาประกาศว่า ต้องมีอะไรแน่นอน
เสร็จแล้วก็มีนักวิชาการมาศึกษากันต่อ พบว่า จริงด้วย แถมลามไปถึงภาษาอื่น ๆ มากมายเช่น ภาษาของชาติยุโรป เปอร์เซีย และอีกมาก เลยเรียกว่าอินโดยูโรเปียน
สันนิษฐานว่ากาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ชนเผ่าที่ว่านี่ตั้งหลักแหล่งอยู่แถวทะเลดำทางใต้ของรัสเซีย แล้วกระจายไปสองทางใหญ่ ๆ คือ ยุโรป เป็นกรีก ลาติน และอีกทางเข้ามาอินเดีย เป็นสันสกฤต บาลี

ในทางอินเดีย เขาก็ว่า รามเกียรติ หรือ รามยณะ เนี่ย ก็เป็นเรื่องของการเข้ามาของพวกอินโดยูโรเปียน ที่ถือตัวว่าตนเหนือกว่า เข้ามาในอินเดีย ทีนี้คนพื้นเมืองเดิมก็แบ่งเป็นสองพวก พวกนึงหนุน พวกนึงต้าน ในรามเกียรติ ก็เลยทำให้พวกที่หนุน เป็น ลิง เช่น หนุมาณ มาช่วยพระราม ส่วนพวกที่ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจก็เป็นพวกยักษ์ ไป

กลับมาที่รากศัพท์เราต่อ tri- อันนี้ กรีก ลาติน สันสกฤต บาลี ใช้เหมือนกันหมด คือความหมาย "สาม" อ่านได้ทั้ง ตรี หรือ ไตร (หรือ ทรี ไทร)

คุ้น ๆ หรือยังครับ ผมว่าคุณเริ่มสะกิดใจอะไรขึ้นมาแล้วล่ะ

ภาษาไทยเราได้อิทธิพลมาจาก สันสกฤต และบาลีมาก ๆ เพราะอิทธิพลของพุทธและพราหมน์

คำว่า ไตรมาส = สามเดือน ไตรภูมิ = สามภพ เอก โท ตรี คุ้นหรือยัง เอานี่ไปอีก ไตร ปิฎก (สามตะกร้า คัมภีร์สามตะกร้า) พระรัตนตรัย (แก้วสามประการ)

คราวนี้กลับมาที่ภาษาอังกฤษ

Triathlon เหอ ๆ อันนี้ถอดเป็นไทย คือ ไตรกีฬา
tricycle จักรยานสามล้อ
trinity ศัพท์คริสต์ พระบิดา พระบุตร พระวิญญาณ


กลับมาภาษาไทยอีก

ไตรสรณคมน์ การถึงสรณะสาม, การถึงรัตนะสาม คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง


ทูต สมัยก่อนทูตแบ่งเป็นสามชั้น ราชทูต อุปทูต ตรีทูต

"ตรีมูรติ" ก็คือ พระเป็นเจ้า 3 พระองค์รวมกันเป็นหนึ่ง ได้แก่ พระพรหม พระศิวะ และพระนารายณ์

รากศัพท์ตรี หรือ ไตร เหมือนกันไม่ใช่เหตุบังเอิญ และมันมีอิทธิพลถึงภาษาไทยเสียด้วยสิ

ผมขอทิ้งท้ายไว้ที่รากอีกคำที่เชื่อมโยงอินเดีย ถึงยุโรป
นั่นคือ ภราดร หรือ ภาราดร หรืออาจได่ยินว่า ภราดรภาพ คือ ความเป็นพี่น้องกัน
คำแขกของ พี่น้องคือ ภรดา ภารดา ตัวเทียบเสียง ภ สำเภา ที่เป็นตัว อังกฤษ ตามรากศัทพ์แขกที่ถูกต้องคือ bh
คราวนี้ลองออกเสียงคำว่า ภารดา Bhrada ออกแบบรัว ๆ เร็ว ๆ แบบลิ้นแขก
เราจะได้อะไร.........

ใกล้กับคำว่า brother ในภาษาอังกฤษมั้ยครับ ไม่ต้องนึกถึงตัว bh ก็ได้ แค่ ภ สำเภาเนี่ยเสียงก็คล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ

คนทั้งโลกพี่น้องกันจริง ๆ



 ฝากแนะนำเว็บ feelthai.blogspot.com และในเฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/marnpinbook ต่อให้คนรู้จักด้วยนะครับ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง แต่ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามภาษาอังกฤา หรือแก้ปัญหาการบ้านภาษาอังกฤษนะครับ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ (English for learners - blog)