ข่าวธุรกิจจำเป็นมากสำหรับหนุ่มสาวคนทำงาน (หรือคน “ทนงาน” ) สมัยนี้ เพราะหูตาต้องไวกับข่าวคราวเสมอครับ วิธีอ่านข่าวพวกนี้ก็ไม่ยากเกินเรียนรู้สำหรับใครก็ตามที่สนใจฝึกภาษาอังกฤษ เหตุเพราะประเด็นข่าวพวกนี้จะซ้ำกันบ่อย จะเน้นพวก “ยอดขาย” หรือไม่ก็พวก “แนวโน้ม” ต่าง ๆ ไม่หนีไปจากนี้หรอก
วันนี้เราจะได้เรียนรู้สองเรื่องไปพร้อมกันครับ ทั้งข่าวธุรกิจ และวงการไอที มาดูกันเลยว่าอะไรเป็นอะไร ข่าวนี้มาจากซีเน็ตนิวส์ดอตคอมครับผม
Global chip sales climb in August
ยอดขายชิปทั่วโลกพุ่งในเดือนสิงหาคม
Worldwide sales of semiconductor chips grew 4 percent in August, raising the prospects of stronger third-quarter growth, according to a new study.
ผลการศึกษาชิ้นใหม่ชี้ว่า ยอดขายชิปเซมิคอนดักเตอร์โตขึ้น 4 เปอร์เซ็นต์ในเดือนสิงหาคม สร้างความหวังว่าในไตรมาสสามจะมีแนวโน้มเติบโตมากกว่าเดิม
Vocab ภาษาอังกฤษน่ารู้
Global-worldwide คำนี้เราเรียนรู้ไปแล้วครับตอนพูดถึง “globalization” เมื่อหลายวันก่อน ลองย้อนกลับไปคลิกอ่านดูครับ ทั้งสองคำมีความหมายเกือบจะตรงกันคือ “ทั่วโลก” หรือ “ของโลก” น่าสนใจตรงที่เรื่องความพลิกแพลงในการสะบัดสำนวนของคนเขียนข่าว เพราะตามธรรมดาเวลาเขียน การใช้คำเดิมซ้ำ ๆ มันทำให้น่าเบื่อครับ (ไม่ใช่บทเรียนนี่นา จะได้ใช้คำเดิมซ้ำ ๆ กัน) ตอนแรกเขาใช้คำ “global” ตอนพาดหัว แต่พอ เริ่มเขียนข่าว เขาก็ใช้ “worldwide” แทน จะได้ดูไม่เซ็ง
เวลาอ่านข่าว หรืออ่านนิยายลองใช้สายตาสอดส่ายอะไรพวกนี้ ดูครับ บางทีคุณจะเจออะไรที่เป็นประโยชน์
Chip คำนี้แปลว่าอะไรแบน ๆ เป็นแผ่น ปกติเราจะเจอคำพวกนี้บ่อย เวลากินมันฝรั่งทอด ที่เรียกว่า potato chips แบบกินเลย์อะไรพวกนี้ล่ะ นี่เขาเรียกแบบฝรั่งมะกันนะครับ ถ้าเป็นฝรั่งผู้ดีอังกฤษจะเรียกมันได้อีกอย่างว่า “potato crisps” หรือไม่ก้อ “crisps” เฉย ๆ
นอกจากนี้ บางทีพวกอังกฤษก็เรียก potato chips เนี่ยกับพวก มันฝรั่งทอดแบบที่หั่นเป็นชิ้นยาว ๆ เหมือนกัน แต่ถ้าหั่นแบบนี้ พวกฝั่งอเมริกาเขาเรียกว่า french fries แบบที่เราคุ้นเคยกันดีครับ
แต่ในที่นี้ ทางไอทีเขาหมายถึง “ไมโครชิป” ครับ แล้วทำไมเขาเรียกมันอย่างนี้ เพราะมันหมายถึงแผ่นผลึกซิลิกอนบาง ๆ ที่เขาเอามาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เพื่อทำอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์นั่นเอง เลยเรียกตามแบบเดิมว่า “chip” เหมือนกัน
อันที่จริงมันออกเสียงว่า “ฉิป-ผ์” มากกว่า “ชิป” เพราะมันทำให้สับสนน่าดูกับคำว่า “ship” ที่ดูจะออกเสียงค่อนมาทางช ช้างมากกว่า สงสัยกลัวว่ามันจะใกล้กับคำว่า “ฉิบหาย” มั้ง เลยกระดากปากกัน แต่เอาเถอะครับ ถ้าเขาบัญญัติคำมาแบบนี้ แล้วเราก็ใช้กันชินแล้ว เลยตามเลยแล้วกัน
แค่เวลาออกเสียง พยายามนึกว่ามันค่อนมาทางฉ ฉิ่งมากกว่า จริง ๆ ก็ไม่ตรงเสียทีเดียวนักหรอก ใครมีฝรั่งอยู่ใกล้มือ ลองให้เขาออกเสียงคำ “ch” กับ “sh” ให้ฟังในคำต่าง ๆ ดูจะดีมากครับ
semiconductor ก็คือ “สารกึ่งตัวนำ” นั่นล่ะครับ แต่ผมใช้ “เซมิคอนดักเตอร์” เพราะมันใช้กันเฉพาะแวดวงมาจนชินและคุ้นเคยแล้ว จะใช้ยังไงก็ได้นะ ในความเห็นของผม ส่วนไอ้เรื่องมันจะกึ่งตัวนำยังไง คงไม่ต้องสาธยายให้มากความเพราะมันเรื่องเฉพาะทางมากไปหน่อย
, according to a new study. เวลาเจอ ท่อนประโยคแบบนี้ ในภาษาอังกฤษ รูปแบบการวางจะต่างจากภาษาไทยเรา เพราะฝรั่งเขาจะพล่ามออกมายาวยืด แล้วค่อยใส่เครื่องหมายคอมม่า จากนั้นตบท้ายอีกทีว่า ใครพูด เอามาจากไหน ใครบอก เวลาเราอ่าน ต้องสะกดรอยไปเรื่อย ๆ ก่อนครับว่า เขามุ่งไปที่ใคร พอเจอตัวแล้ว เราถึงดูว่าเขาพูดเรื่องอะไร แบบนี้จะเข้าใจง่ายขึ้นอีกเยอะเลย
August เหมือนเดิมครับ ขอย้ำว่าชื่อเดือนต้องใช้ตัวใหญ่นะครับ แต่แถมให้นิดนึงว่า ชือเดือนนี้มีรากคำมาจากชื่อ จักรพรรดิ์โรมันครับ รู้เอาไว้เล่น ๆ เท่านั้นเอง
third-quarter ไตรมาสสามครับ พวกงบการเงินบริษัทจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วง ในแต่ละปี ช่วงละ 3 เดือน โดยสร้างศัพท์มาจากคำแขกว่า “ไตร” คือสาม และ “มาส” คือเดือน
ทิ้งท้ายไว้นิดนึงว่า ถ้าคิดว่าคอลัมน์นี้พอจะมีประโยชน์ ฝากบอกต่อเพื่อน ๆ ทางอีเมล์ด้วยครับ เราอัปเดตทุกวัน ครับ
เดี๋ยวพรุ่งนี้ ผมจะหยิบอีกพารากร๊าฟนึงในข่าวเดียวกันนี้มาเล่าสู่กันฟังต่อครับผม อดใจรอคืนเดียว…เท่านั้น
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ฝากแนะนำเว็บ feelthai.blogspot.com และในเฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/marnpinbook ต่อให้คนรู้จักด้วยนะครับ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง แต่ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามภาษาอังกฤา หรือแก้ปัญหาการบ้านภาษาอังกฤษนะครับ
© สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ (English for learners - blog)