มาเล่นเรื่องสำนวนกันบ้าง แก้เลี่ยน เปลี่ยนบรรยากาศ
Period . (อ่านว่า เพี๊ยย์-เหรียด ) เคยอ่าน ประโยคสนทนา หรือดูหนัง แล้วเจอคำนี้มั้ยครับ งงล่ะสิ เหมือนกันครับ เมื่อก่อนผมก็ไม่รู้เรื่องหรอก แต่มีเพื่อนฝรั่งคนนึงมาไขปริศนาให้จนหายสงสัยเมื่อเกือบสิบห้าปีที่แล้ว
อันที่จริง “period” มีความหมายถึง “ช่วงเวลา” ด้วย และหมายถึงอะไรต่อมิอะไรอีกเยอะ แต่ไม่เกี่ยวกับที่เราพูดถึงครับ
คราวนี้มาดูตัวอย่างประกอบบ้าง “ My last offer is 500 Baht. Period!” ไม่เข้าใจก็อ่านต่อสิครับ
มันเป็นเรื่องบ้าอะไรก็ไม่รู้ ที่ภาษาอังกฤษจะต้องมีเครื่องหมายกำกับไว้เวลาจบประโยค (ทีภาษาไทย ไม่มี ไม่เห็นมีใครตายเลย ) ไม่มีไม่ได้ครับ จะต้องมี ไม่งั้นไม่จบ ไม่เหมือนภาษาไทยเรา สบาย ๆ ว่าไปเรื่อย ไม่จบก็ไม่จบ จะจบก็จบ บอกได้ว่า โครงสร้างภาษาเราไม่ซีเรียสเรื่องนี้ครับ
เครื่องหมายจบประโยคในภาษาอังกฤษมี อยู่สามแบบใหญ่ ๆ คือ
1- question mark หรือ เครื่องหมายคำถาม เช่น ?
2- exclamation คือ เครื่องหมายตกใจ เช่น !
3- period หรือจุดฟูลสต๊อป นั่นเอง อันนี้เรารับมาจากอังกฤษ ที่เรียกว่า “full stop” แล้วเราเอามาใช้ทับศัพท์
ไม่มีเครื่องหมายสามอย่างนี้ มันจบประโยคไม่ได้ครับ ไม่เข้าใจจริง ๆ ทำไมบื้อ อย่างงี้ ก็ไม่ทราบได้
ย้อนกลับไปที่ประโยคตัวอย่าง เมื่อกี้ ที่ว่า
“ My last offer is 500 Baht. Period!”
หมายความว่า เขาเสนอราคาแค่ 500 บาท ขาดตัว ไม่คุยอีกแล้ว ไม่ต้องต่อรองให้เสียเวลา ไม่ต้องพูดมาก เขาใช้คำว่า Period! แสดงว่า เขาใส่จุดฟูลส๊ตอปแล้วนะ อย่ามาโยกโย้อะไรอีก จบประโยคแล้ว ไม่เอา ไม่คุย ไม่อะไรทั้งนั้น พอแค่นี้
เวลาฝรั่งใช้คำนี้กับคุณ แสดงว่า ถ้าไม่ รำคาญ ก็ เหม็นหน้าคุณเต็มทนแล้ว ขี้เกียจต่อล้อต่อเถียงว่างั้นเถอะ
คิดจะลงท้ายด้วยเครื่องหมายตกใจ หรือ จุดฟูลสต๊อปธรรมดา ก็ตามแต่เหตุการณ์ครับ เช่น ถ้าเวลาพูดคุณแหกปากตะโกนใส่เขาด้วย ก็ใส่ เครื่องหมายตกใจ แต่ถ้าพูดด้วยน้ำเสียงนิ่ม ๆ เด็ดขาดเหมือนมาดมาเฟียอิตาเลียน ก็ใช้ฟูลสต๊อปได้
ส่วนความหมายไม่เปลี่ยน ชัดเจนเหมือนเดิมว่า “กูไม่พูดกับมึงอีกแล้ว” แค่นี้พอ
(จบด้วยคำแรง ๆ จะได้จำได้ไงครับ จะหาว่าผมหยาบช้าก็ยอม)
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ฝากแนะนำเว็บ feelthai.blogspot.com และในเฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/marnpinbook ต่อให้คนรู้จักด้วยนะครับ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง แต่ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามภาษาอังกฤา หรือแก้ปัญหาการบ้านภาษาอังกฤษนะครับ
© สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ (English for learners - blog)