วันเสาร์, มิถุนายน 26, 2553

เติ้ง ม่ายช่าย เด็ง

โดย มารพิณ

ปรับปรุงล่าสุดวันที่ 5 พ.ย. 46

เอาล่ะครับ เปิดเทอมอีกแล้ว รถราก็คงกลับมาติดกันเหมือนเดิม ขอแนะนำว่า ใครลำบากเรื่องเดินทางจะไปเรียนที่ไหน หรือ ติวภาษาที่ไหน ก็เปิดคอลัมน์ภาษาอังกฤษเอื้ออาทรนี่ล่ะครับ เปิดดูอินเทอร์เน็ตอยู่ที่บ้าน สบาย ๆ ไม่ต้องไปไหนให้เสียเวลา หรือเสียสตางค์

วันนี้ จะขอคุยเรื่องการอ่านออกเสียงสำเนียงจีนกันนิดนึง เพราะว่าเมื่อวันก่อนผมดูทีวีช่องนึง เขาแปลสารคดีเรื่องเมืองจีนมาจากภาษาอังกฤษ แล้วก็อ่านชื่อคนจีนคนนึงว่า “เด็งเสี่ยวปิง” ฟังดูแล้วก็งงว่า หมอนี่มันเป็นใครกันแน่ เพราะในสารคดีก็ไม่ได้บอก ทำเหมือนว่า พวกเรารู้กันแล้ว



อันที่จริง ไม่ใช่ “เด็ง” ที่ไหนหรอกครับ แต่เป็น “เติ้ง” ต่างหาก และบุคคลที่เขากำลังกล่าวถึงนี่ก็คือ ท่าน “เติ้งเสี่ยวผิง” ผู้นำจีนที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งซึ่งถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว พอพูดว่าเติ้งเสี่ยวผิง พวกเราก็รู้จักกันดีจากคำขวัญที่ว่า “แมวสีอะไรไม่สำคัญ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ”

แล้วทำไม เขาถอดเสียงออกมาเช่นนั้น ผมเดาว่าเพราะ หนึ่ง ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องการอ่านคำจีนด้วยอักษรภาษาอังกฤษ และสอง ก็คือ ไม่มีความรู้เรื่องการเมือง หรือประวัติศาสตร์จีน ซึ่งก็พอเขาใจได้เพราะหลักสูตรบ้านเรานี่ชอบไปเรียนประวัติศาสตร์ฝรั่ง แต่ละเลยประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านเอเชีย ไปเสียนี่ !

ดังนั้น เหตุที่คนแปลถอดเสียงออกมาอย่างนั้นคงเป็นเพราะชื่อภาษาอังกฤษเขาใช้กันว่า Deng xiao ping นั่นเอง ซึ่งคำว่า Deng เขาจะไม่อ่านว่า “ เด็ง” แต่อ่านว่า “เติ้ง” ต่างหาก

นี่เป็นการอ่านออกเสียงสำเนียงจีนกลางตามหลักภาษาศาสตร์ที่รัฐบาลจีนยึดถืออยู่ในปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นมาตรฐานไปโดยปริยาย เพราะรัฐบาลที่ปักกิ่ง ก็ใหญ่กว่ารัฐบาลจีนคณะชาติที่เกาะใต้หวันอยู่แล้ว เห็นอย่างประชุมเอเปคมั้ยครับ ของไต้หวันมีแค่ผู้แทนมา แต่ของรัฐบาลจีน ผู้นำเขามาอย่างเต็มเกียรติ

พรุ่งนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อว่า เรื่องการอ่าน และเขียนภาษาจีนด้วยตัวภาษาอังกฤษมีอะไรให้เราได้เรียนรู้และเป็นประโยชน์บ้าง

พบกันเช่นเคยครับผม


 +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
 ฝากแนะนำเว็บ feelthai.blogspot.com และในเฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/marnpinbook ต่อให้คนรู้จักด้วยนะครับ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง แต่ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามภาษาอังกฤา หรือแก้ปัญหาการบ้านภาษาอังกฤษนะครับ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ (English for learners - blog)