วันเสาร์, มิถุนายน 26, 2553

จดหมายข่าวแอนแทร็คตอนสอง

โดย มารพิณ 

เนื่องจากศัพท์คราวก่อนยาวมาก ผมเลยตัดตอนยกยอดมาเป็นอีกตอนหนึ่งต่างหากครับ เป็นเรื่องของจดหมายที่ปนเปื้อนเชื้อแอนแทรกซ์ เสร็จแล้วจบด้วยเทคนิคการเรียนภาษาอีกนิดหน่อย

มาว่ากันเรื่องศัพท์ภาษาอังกฤษต่อครับ

Crew   ออกเสียงว่า ครู่ว์    แปลว่า ลูกเรือ  นั่นเองครับ ใครที่ประจำ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อยู่บนเรือ บนเครื่องบิน หรือแม้แต่กระทั่งในยานอวกาศ สามารถใช้คำว่า crew หรือลูกเรือด้วยกันได้ทั้งสิ้น ส่วนใครที่อาศัยไปหรือโดยสารไป ไม่มีหน้าที่ควบคุมดูแลยานพาหนะ จะต้องใช้ “ผู้โดยสาร” หรือ “passenger”  Passenger พ้าสเซ็นเจ่อร์    ครับ สังเกตุให้ดีเวลาที่มีข่าวเครื่องบินตกภาษาอังกฤษ เขาจะแยกแยะอย่างชัดเจนว่า ผู้โดยสารตายกี่คน ลูกเรือตายกี่คน

แต่มีคำอังกฤษหลายคำที่พัฒนามาจากคำ ๆ นี้คือ crew cut แปลว่า ผมทรงลานบิน ตัดสั้นหัวเกรียนอะไรทำนองนั้นล่ะครับ พวกครูในโรงเรียนเมืองไทยชอบบังคับให้เด็ก ๆ ตัดทรงนี้เสียจริง ๆ ความจริงนะผมว่า น่าจะยกเลิกกฎแบบนี้ไปได้แล้ว ใครเรียนเก่งเท่า ไหร่ไว้ผมยาวได้มากเท่านั้น เท่ได้มากเท่านั้น ขี้คร้านจะเก่งจะขยันกันทั้งโรงเรียน ไม่เชื่อก็ลองดูสิ หรือว่าโรงเรียนอยากควบคุมอย่างเดียวไม่อยากให้เด็กเก่ง ?



อีกคำคือ motley crew นี่เป็นชื่อที่ซ้ำกับชื่อวงร็อคชื่อดังสมัยก่อน แปลว่า กลุ่มคนที่มาจากหลายจำพวกมารวมกัน แต่งตัว บุคลิคต่างกัน หลากหลาย แต่เป็นกลุ่มเดียวกัน

aircraft carrier  แปลว่า เรือบรรทุกเครื่องบิน แต่ต้องเป็นในเซนส์ที่ว่า มีดาดฟ้า หรือ flight deck ให้เครื่องบินขึ้นลงออกปฏิบัติการณ์ได้นะครับ ไม่ใช่เรือบรรทุกสินค้าที่ขนส่งเครื่องบินจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง

มีเกร็ดความรู้ที่จะโยงไปถึงศัพท์คำนึงว่า นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เรือบรรทุกเครื่องบินมีความสำคัญมาก จนภายหลังกลายเป็น “เรือธง” หรือ “flag ship” ซึ่งหมายถึงเรือที่มีผู้บังคับบัญชาสูงสุดประจำกองเรือนั้น ๆ ประจำการอยู่ ส่วนว่ามันเกี่ยวอะไรกับธงนั้น สมัยก่อนเขาส่งสัญญาณกันด้วยธงครับ จะรบ จะลุย เรือธงนี่ก็จะชักธงขึ้นไป เรือลำอื่นเอากล้องส่องก็มองเห็นรหัสธงแล้วทำตาม

มีคำว่า carrier ในทางทหารที่ใช้กันอยู่อีกคำหนึ่งก็คือ armored personnel carrier หรือ รถสายพานลำเลียงพลหุ้มเกราะ(รสพ.) ซึ่งภาษาอังกฤษย่อว่า APC ไอ้นี่ ก็คือรถหุ้มเกราะที่ไว้ใช้บรรทุกทหารนั่นเอง (ลองนึกภาพรถถังที่ไม่มีปืนใหญ่ดู)


a return address คราวนี้สิครับ จะเป็นคำ address ที่เป็น address หมายถึง “ที่อยู่ “ หรือ “บ้านเลขที่” จริง ๆ ไม่ใช่การกล่าวต่อสาธารณะ หรือระบบกระจายเสียงแบบในย่อหน้าที่สอง ความหมายมันก็คือ “ที่อยู่ผู้ส่ง” ครับ แต่ฝรั่งใช้ในเซนส์ที่ว่า ถ้าจดหมายนี้ไม่มีผู้รับ หรือผู้รับปฏิเสธที่จะรับ จะให้ส่งคืนไปที่ไหน เลยใช้คำว่า return address ไงละครับ แต่ในภาษาไทยเรา แค่อยากรู้ว่า ใครส่งมาเป็นพอ

สังเกตุว่า address ในที่นี้ คือ “ที่อยู่” ไม่ใช่ “การแถลงต่อสาธารณะชน” ในย่อหน้าที่สอง เห็นมั้ยครับ แค่คำ ๆ เดียว ในข่าวเดียวกัน มีการเขียนพลิกแพลงไปมากมายหลายแบบหลายประการ ด้วยกัน


 +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
 ฝากแนะนำเว็บ feelthai.blogspot.com และในเฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/marnpinbook ต่อให้คนรู้จักด้วยนะครับ จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง แต่ผมขออนุญาตไม่ตอบคำถามภาษาอังกฤา หรือแก้ปัญหาการบ้านภาษาอังกฤษนะครับ
 © สงวนลิขสิทธิ์ มารพิณ (English for learners - blog)